เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ – เกริ่นนำ: อนาคตอยู่ในมือเรา

บทความ: เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ

ดาวน์โหลด PDF


สารบัญ

————————————————————————————————

อนาคตอยู่ในมือเรา

?ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา?ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ได้ลดลงอย่างรวดเร็วมากกว่าช่วงใดๆ ในประวัติศาสตร์ …ซึ่งเป็นผลจากสาเหตุหลากหลาย รวมถึงการสูญเสียอย่างมหาศาลของความหลากหลายทางชีวภาพ การตัดไม้ทำลายป่าที่ทำให้พื้นที่ป่าเสื่อมโทรม การสูญเสียความอุดมสมบูรณ์ของดิน และคุณภาพของน้ำและอากาศ?

IAASTD (2009) Agriculture at a Crossroads: A Global Report

โลกของเราเป็นดาวเคราะดวงเดียวในระบบสุริยะที่มีเปลือกหุ้มที่มีชีวิต นั่นก็คือ ?ดิน? แต่ดินได้กลายเป็นทรัพยากรที่ถูกลืม มีน้อยคนนักที่รู้และตระหนักว่า “ดินมีชีวิต? เหมือนๆกับพวกเราหรืออาจมากกว่าอีกด้วย ในร่างกายของคนเราและในสัตว์ทุกชนิดต่างมีจุลินทรีย์อาศัยอยู่และช่วยระบบการทำงานของร่างกายให้ดำรงชีวิตอยู่ได้ (เช่น จุลินทรีย์แลคโตบาซิลัส ในลำไส้ใหญ่ที่ช่วยในการย่อยอาหาร เป็นต้น) ในดินปริมาณ 1 ช้อนชามีจุลินทรีย์อยู่มากกว่า 6 พันล้านตัว1 ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดบนโลกในขณะนี้เสียอีก! มนุษยชาติอยู่รอดได้ด้วยหน้าดินหนาเพียง 6 นิ้ว ที่เป็นแหล่งกำเนิดอ๊อกซิเจนให้เราหายใจ และให้อาหารเลี้ยงทุกชีวิตบนโลก ธรรมชาติต้องใช้เวลาถึง 300 ปีเพื่อสร้างหน้าดินหนา 1 ซ.ม.2 แต่ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา โลกได้สูญเสียหน้าดินไปถึง 1 ใน 33 และปัจจุบันเราสูญเสียหน้าดินอย่างรวดเร็วไปกับการกัดเซาะของน้ำและลม

ซึ่งการปฏิวัติเขียวยุคก่อนมีสาเหตุหลักมาจากวิธีการทำการเกษตรที่เป็นผลจากการปฏิวัติเขียว (Green revolution) หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หากพิจารณาให้ดีจะเข้าใจได้ว่าปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง สภาพภูมิอากาสแปรปรวน หรือแม้แต่สงครามที่ช่วงชิงดินแดนในปัจจุบัน ต่างล้วนมีความเกี่ยวโยงโดยตรงกับวิธีที่เราปฏิบัติต่อดินทั้งสิ้น หากโลกปราศจากหน้าดินเสียแล้ว สิ่งมีชีวิตก็ไม่อาจดำรงชีวิตอยู่บนโลกใบนี้ได้

การปฏิวัติเขียวยุคก่อน

กลับสู่ด้านบน

ผลพวงของการปฏิวัติเขียวยุคก่อนที่ส่งเสริมวิธีทำการเกษตรแบบอุตสาหกรรม ได้ทำให้เกษตรกรทั่วโลกส่วนใหญ่ต้องทิ้งวิถีการเกษตรแบบดั่งเดิมที่อนุรักษ์ดิน หันมาทำการเกษตรที่ต้องพึ่งพาสารเคมี ทั้งปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืช เป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต สารเคมีเพื่อการเกษตรเหล่านี้เป็นตัวการสำคัญที่ทำลายหน้าดิน ทำให้ดินเสื่อม เกิดดินเสีย และกลายเป็นดินตายในที่สุด ปัญหาวิกฤตคุณภาพดินเพิ่มมากขึ้นตามปริมาณการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร คุณภาพดินจากการทำเกษตรเคมีมีแต่จะเสื่อมลง และเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตเท่าเดิม ผู้ผลิตจึงต้องใช้สารเคมีในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ดินเสียหายหนักขึ้นและเร็วขึ้น

สารเคมีการเกษตรที่ใช้กันอย่างมหาศาลในปัจจุบัน นอกจากจะทำลายดินและระบบนิเวศ อย่างรวดเร็วแล้ว ก็ใช่ว่าจะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตเป็นเงาตามตัวกับปริมาณที่ใช้เพิ่มขึ้น แต่ตรงกันข้าม ถึงจะใส่ปุ๋ยเคมีเพิ่มมากเท่าไหร่ก็ตาม ผลผลิตก็ไม่เพิ่มหรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นหรือกระทั้งลดลงในหลายกรณี4 ปัจจุบันมูลค่าของสารแคมีเพื่อการเกษตรที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยสูงถึงปีละกว่า 30,000 ล้านบาท และส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ถึงแม้ประเทศไทยจะส่งออกสินค้าเกษตรได้เป็นจำนวนมาก แต่รายได้สุทธิของเกษตรกรกลับลดน้อยลงมาก รายได้ส่วนใหญ่ไปตกอยู่ในมือกลุ่มธุรกิจขายปุ๋ย สารเคมีการเกษตร และเมล็ดพันธุ์ ยิ่งเมื่อราคาปัจจัยการผลิตด้านการเกษตรเหล่านี้มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ยิ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้น เมื่อถูกซ้ำเติมด้วยสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนที่ทำให้ผลผลิตเสียหาย ต้องสูญเสียรายได้ซ้ำอีก การใช้สารเคมีราคาแพงเหล่านี้ยังทำให้ผืนดินที่ทำกินหรือแหล่งรายได้เสื่อมโทรมลง ผลผลิตอาหารที่นำมาบริโภคก็ปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น ทำให้เกษตรกรต้องเผชิญปัญหาวิกฤตมากมายที่ถาโถมสู่อาชีพและชีวิตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตัวอย่างเช่น5

  • ร้อยละ 80 ของเกษตรกรไทยเป็นหนี้ที่ยังไม่มีทางใช้คืน กลายเป็นหนี้อมตะที่ยังใช้คืนไม่ได้ ทำให้รัฐบาลนโยบายประชานิยมใช้ภาษีของประชาชนไป ?ยกหนี้? ให้เกษตรกรเพื่อแก้ปัญหา
  • ร้อยละ 75 ของเกษตรกรไทยมีสารพิษสะสมในร่างกายระดับที่ไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อโรคร้าย
  • ร้อยละ 70 ของเกษตรกรไทยซึ่งเป็นผู้ปลูกอาหารเลี้ยงประชากรในประเทศและชาวโลก ไม่สามารถเลี้ยงครอบครัวตัวเองจากอาหารที่ผลิตในไร่นาของตนเอง ต้องพึ่งพาซื้ออาหารจากที่อื่น
  • ร้อยละ 60 ของเกษตรกรไทยต้องเช่าที่ดินทำกิน และอีกกว่า 3 แสนรายถูกฟ้องยึดที่ดินทำกิน
  • จำนวนเกษตรกรไทยลดลงเหลือน้อยกว่าร้อยละ 40 ของประชากรในปี 2552 และมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 45-51 ปี คนหนุ่มสาวไม่อยากเป็นเกษตรกรเหมือนพ่อแม่ที่ต้องลำบากยากจน

นอกจากนี้ อาหารที่เป็นผลผลิตจากเกษตรเคมียังเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของปัญหาวิกฤตด้านสุขภาพของคนไทยในปัจจุบันอีกด้วย

  • อัตราการป่วยด้วยโรคมะเร็งของคนไทยในช่วง 60 ปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นถึง 100 เท่า6 เมื่อปี 2548 รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารสุขในขณะนั้น นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล ได้ให้ข่าวว่าคนไทยเป็นมะเร็งเพิ่มทุกวัน วันละ 274 คน โดยสาเหตุใหญ่เกิดจากสารเคมีปนเปื้อนในอาหาร7 ข้อมูลสถิติสาเหตุการตายของคนไทยช่วงปี 2541-2551 ของกระทรวงสาธารณสุข แสดงให้เห็นว่าคนไทยตายเพราะมะเร็งเป็นอันดับหนึ่งตลอดทศวรรษ และยังคงรักษาอันดับที่หนึ่งมาจนถึงปี 2554 โดยคิดเฉลี่ยมีคนไทยตายเพราะมะเร็งชั่วโมงละ 6.6 คน (58,076 คน/ปี) ใช้งบประมาณค่ารักษาไปราว 5,700 ล้านบาทในปีเดียว8
  • ผลการสุ่มตรวจเลือดกลุ่มผู้บริโภคในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2551 จำนวน 1,412 คน?ทั้งนักศึกษา อาจารย์ และประชาชนทั่วไป พบว่าผู้มีสารพิษสะสมในเลือดระดับที่ไม่ปลอดภัยและเสี่ยงต่อโรคร้ายสูงถึงร้อยละ 899 มากกว่าที่ตรวจพบในกลุ่มเกษตรกร (ร้อยละ 75)
  • ในช่วงปี 2540-49 จำนวนคนไทยที่ป่วยด้วยโรคมะเร็ง หัวใจ หลอดเลือด และเบาหวาน เพิ้มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขในปี 2551 ชี้ว่ามีคนไทยป่วยด้วยกลุ่มโรคร้ายที่อันตรายเกือบ 1 ล้านราย10
  • ประเทศไทยมีคนอ้วนเพิ่มขึ้นถึง 7.5 เท่าในช่วง 18 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมีคนไทยที่ท้วมถึงอ้วนมากถึง 10 ล้านคน ทำให้ประเทศต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคที่เป็นผลจากโรคอ้วน เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง และมะเร็ง ปีละหลายแสนล้านบาท11

ถึงแม้ประเทศไทยจะมีการเตรียมตัวรับมือกับปัญหาวิกฤตทั้งหลายด้วยการรณรงค์เผยแพร่วิถีปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาทำเกษตรเกษตรอินทรีย์หรือธรรมชาติกันอย่างแพร่หลายมามากกว่า 2 ทศวรรษแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถชักจูงและดึงดูดให้เกษตรกรส่วนใหญ่ของประเทศละทิ้งการทำเกษตรเคมีและหันมาทำเกษตรอินทรีย์แทนได้ สาเหตุหลักประการหนึ่งก็เพราะ วิธีการทำเกษตรอินทรีย์ที่ส่งเสริมและเผยแพร่กันทั่วไปในประเทศไทย ต้องใช้เวลาราว 3-7 ปี (ขึ้นกับสภาพความเสื่อมของดิน) เพื่อปรับพลิกฟื้นความอุดมสมบูรณ์ของดินที่เสื่อมโทรมจากการใช้สารเคมี ให้สามารถให้ผลผลิตที่เทียบเคียงกับการทำเกษตรเคมีได้ เกษตรกรที่สนใจจะหันมาทำเกษตรอินทรีย์จำเป็นต้องแบกรับภาระรายได้ที่ลดลงในช่วงการปรับเปลี่ยนที่ยาวนานนี้ไว้เอง หรือรัฐต้องใช้งบประมาณมาช่วยสนับสนุน ซึ่งในความเป็นจริงจะเป็นกรณีแรกมากกว่ากรณีหลัง

ภูมิปัญญาของโลกตะวันออกเชื่อเสมอมาว่าทุกสรรพสิ่งบนโลกใบนี้ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันเพื่อความอยู่รอด สำหรับคนโบราณแล้ว การเกษตรถือเป็นวิถีชีวิต ระบบเกษตรกรรมเป็นวัฒนธรรมของชุมชน หากศึกษาจากกระบวนการของธรรมชาติ เราจะเห็นได้ว่าปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่พวกเราชาวโลกกำลังเผชิญอยู่ ความจริงแล้วสามารถเริ่มต้นแก้ไขได้เพียงด้วยการปรับเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการทำเกษตรกรรม จากการพึ่งพาสารเคมีและพลังงาน มาสู่แนวทางการเกษตรที่เข้าใจกระบวนการของธรรมชาติ หรือสอดคล้องกับกลไกทางชีวภาพของระบบนิเวศตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตจากที่ผลาญทรัพยากรมาสู่วิถีพอเพียง เปลี่ยนจากการพึ่งพาผู้อื่นมาสู่การพึ่งพาตัวเอง เพียงการเริ่มต้นจากการดูแลเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดินตามกระบวนการทางชีวภาพของธรรมชาติ ก็จะสามารถขับเคลื่อนฟันเฟืองของกลไกธรรมชาติในการเยียวยาปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้ระบบนิเวศกลับคืนสู่ความสมดุลตามธรรมชาติ สร้างสภาพแวดล้อมที่ยั่งยืนสำหรับการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตทั้งหลายบนโลกใบนี้ได้

เราทุกคนมีส่วนในการทำลายหรือทำให้เกิดความยั่งยืน พวกเราต่างเป็นส่วนหนึ่งของระบบขนาดใหญ่ที่เกี่ยวโยงกัน ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบเชิงลบจากพฤติกรรมของพวกเราที่ไม่อาจนำพาไปสู่ความยั่งยืนในหลายลักษณะ แต่สิ่งแวดล้อมที่เราใช้ร่วมกันเป็นสิ่งที่สามารถฟื้นฟูกลับคืนมาได้ในเวลาน้อยกว่าชั่ว 1 ชีวิต หากพวกเราทุกคนร่วมมือร่วมใจกันที่จะเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับโลก จอห์น เอฟ เคเนดี้ เคยกล่าวไว้ว่า ?หากคุณไม่ใช่ส่วนหนึ่งของทางแก้ คุณก็เป็นส่วนหนึ่งของปัญหา?

ผลพวงของเกษตรเคมี

กลับสู่ด้านบน

การปฏิวัติเขียวที่ผ่านมาส่งเสริมวิธีทำเกษตรเคมี ทำให้เกษตรกรทั่วโลกส่วนใหญ่หันมาทำการเกษตรพืชเชิงเดียวในพื้นที่ขนาดใหญ่ ทำให้ต้องใช้เครื่องจักรกลหนักด้านการเกษตรที่เผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิงจำนวนมาก ต้องอาศัยระบบชลประทานที่ดีเพื่อให้มีน้ำอย่างพอเพียงสำหรับไร่นาขนาดใหญ่ ต้องใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสม (hybrid) หรือตัดแต่งพันธุ์กรรม (GMO) เพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิต ต้องพึ่งพาปุ๋ยและสารกำจัดศัตรูพืชเคมีที่เป็นผลผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียมเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต ซึ่งวิธีการเหล่านี้ล้วนเป็นตัวการสำคัญที่ทำลายหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ ตลอดจนแร่ธาตุสารอาหารในดินทั้งสิ้น

ปัจจุบันทั่วโลกมีการสูญเสียดินจากการทำเกษตรเคมีเฉลี่ย 13-53 กิโลกรัมต่อทุก 1 กิโลกรัมของอาหารที่เรารับประทาน วิธีการเกษตรเคมีที่ทำกันอยู่อย่างแพร่หลายนี้สามารถทำลายหน้าดินเร็วกว่าที่ธรรมชาติสามารถสร้างมาทดแทนได้ 18-80 เท่า แม้แต่การทำเกษตรอินทรีย์ทั่วไปถ้ามองในภาพรวม ก็อาจทำลายหน้าดินได้เร็วกว่าที่ธรรมชาติสามารถมาทดแทนได้ถึง 17-70 เท่า เพราะการใช้อินทรีย์วัตถุและแร่ธาตุสารอาหารหรือปุ๋ยจากที่นำมาจากแหล่งอื่น สามารถเพิ่มการทำลายหน้าดินของแหล่งที่เอามาเร็วขึ้นได้

ปัญหาวิกฤตคุณภาพดินเสื่อม ดินเสีย และดินตาย เพิ่มมากขึ้นตามปริมาณการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร และเนื่องจากคุณภาพดินเสื่อมลงตลอดมาจากการทำเกษตรเคมี ดังนั้นเพื่อให้ได้ปริมาณผลผลิตเท่าเดิม เกษตรกรจึงต้องใช้สารเคมีในการผลิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ปุ๋ยเคมีที่ต้องใส่เพิ่มขึ้นที่จริงแล้วไม่ได้ไปช่วยบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ แต่เป็นเหมือนการให้ ?ยาเคมี? กับพืชเพื่อให้สามารถอยู่รอดได้ในดินที่เสื่อมโทรม แต่ขณะเดียวกันก็ไปฆ่าจุลินทรีย์ ไส้เดือน สัตว์ขนาดเล็ก และแมลงที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ที่อาศัยอยู่ในดิน ส่งผลให้ดินเสียหายหนักขึ้นและเร็วขึ้น

นอกจากนี้ สารเคมีเพื่อการเกษตรส่วนใหญ่เป็นผลผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งยังมีการโต้เถียงกันอยู่ว่าเรากำลังเผชิญปัญหาวิกฤตน้ำมันดิบขาดแคลนและกำลังจะหมดโลก (peak oil) จริงอย่างที่เป็นข่าวหรือไม่ แต่ไม่ว่าความจริงจะเป็นเช่นไร ราคาปัจจัยการผลิตเคมีการเกษตรเหล่านี้ก็มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สารเคมีเพื่อการเกษตรเหล่านี้ยังเป็นสารพิษที่เป็นอันตรายต่อทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ รวมทั้งคนที่มีภูมิต้านทานต่ำ และคนที่เป็นโรคร้ายเรื้อรัง เช่น มะเร็ง โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE) หรือ ผู้ติดเชื้อเอดส์ (HIV/AIDS) ตลอดจนเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะแหล่งน้ำและดินอีกด้วย นอกจากนี้ผลพวงของเกษตรเคมีจากปฏิวัติเขียวยังนำมาซึ่งปัญหาวิกฤตโลกอีกหลายประการ ที่เริ่มปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึง

  • ปัญหาวิกฤตหนี้สินเกษตรกรทั่วโลก เนื่องจากเกษตรกรทั่วโลกส่วนใหญ่ทำเกษตรที่ต้องพึ่งพิงสารเคมีเกษตรในการผลิตจำนวนมหาศาล ใช้เมล็ดพันธุ์ลูกผสมและตัดแต่งพันธุ์กรรม ซึ่งปัจจัยการผลิตเหล่านี้ล้วนถูกผูกขาดอยู่ในกำมือของบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่เพียงไม่กี่รายในโลก อย่าง มอนซานโต้ ไบเยอร์ซินเจ็นต้า บีเอเอสเอฟ ดาวน์แอ็คโกรเค็มมิเคอร์ และดูปองท์ เป็นต้น ซึ่งราคามีแต่จะสูงขึ้นเป็นเงาตามราคาน้ำมัน ทำให้ต้นทุนการผลิตด้านการเกษตรเพิ่มสูงมากกว่าและเร็วกว่าการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตผลการเกษตร แนวโน้มในอนาคตก็มีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ต่อไป ขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวนที่ทำให้ผลผลิตการเกษตรลดลงหรือเสียหาย และต้องแบกรับภาระผลขาดทุนรวมทั้งดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น กลายเป็นหนี้สินทับถมพอกพูนเป็นหนี้อมตะไม่มีปัญญาจะใช้คืนได้
  • ตัวเลขด้านพลังงานชี้ว่า ในระบบเกษตรเคมี อาหารทุก 1 แคลลอรี่ จะต้องใช้น้ำมันโดยเฉลี่ยราว 10 แคลลอรี่ในการผลิต12 ดังนั้นอาหารทุกประเภทที่ผลิตแบบเกษตรเคมีจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากภาวะขาดแคลนและราคาที่พุ่งสูงขึ้นของน้ำมันในโลก ซึ่งทั้งสองกรณีนี้เป็นสิ่งที่จะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
  • ปัญหาวิกฤติด้านสุขภาพของเกษตรกรที่ใช้สารเคมีการเกษตรที่เป็นพิษ และของผู้บริโภคที่บริโภคผลผลิตการเกษตรที่มีสารเคมีพิษตกค้าง ทำให้สถิติผู้ป่วยด้วยโรคร้ายเรื้อรังเพิ่มจำนวนสูงขึ้นอย่างน่ากังวล ?ประมาณว่าในแต่ละปีมีคนราว 3 ล้านคนทั่วโลกที่ป่วยจากการได้รับพิษสารเคมีเกษตรโดยตรง และต้องเสียชีวิตราว 200,000 คน13 ไม่นับผู้ที่ป่วยเรื้องรัง ต้องทรมานหรือขาดคุณภาพชีวิตที่ดีอีกหลายล้านคนทั่วโลก
  • ปัญหาวิกฤตจำนวนประชากรโลกเพิ่มสูงขึ้น เฉลี่ยในแต่ละวันโลกมีประชากรเพิ่มขึ้นราว 213,000 คน14 หากใช้วิธีเกษตรเคมีจะต้องใช้พื้นที่เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงคนเหล่านี้เพิ่มขึ้นราว 13,500 ไร่ทุกวัน หรือประมาณ 5 ล้านไร่ต่อปี15 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพื้นที่การเกษตรเพื่อการบริโภคได้ลดน้อยลงเนื่องจากมีการใช้ปลูกพืชเพื่อเลี้ยงสัตว์มากขึ้น รวมทั้งการส่งเสริมการปลูกพืชพลังงาน เพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทนที่จะมารับมือปัญหาวิกฤตน้ำมันปิโตรเลียม
  • ปัญหาการเพิ่มจำนวนประชากรโลกอย่างรวดเร็ว ประกอบกับการลดลงของพื้นที่ทำการเกษตรเพื่อการบริโภค ทำให้มีการเผาและถางพื้นที่ป่าไม้เพื่อเปิดเป็นพี้นที่ใช้ประโยชน์ต่างๆ จนทำให้พื้นที่ป่าไม้สีเขียวทั่วโลกหายไปจากผิวโลกอย่างรวดเร็วตามไปด้วย การที่พื้นที่ป่าหายไปไม่ได้หมายความเพียงแค่ต้นไม้เหายไปเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบทำให้ระบบนิเวศโดยรวมของโลกเสียความสมดุลและเริ่มส่งผลสร้างความเสียหายให้กับทุกชีวิตและสรรพสิ่งบนโลกด้วย การตัดไม้จนหมดป่าภูเขากลายเป็นเขาหัวล้าน หมายถึงเราได้ทำลายแหล่งเก็บกักคาร์บอนของป่าไม้โดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่ปัญหาวิกฤตภาวะโลกร้อนที่กำลังส่งผลทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในแต่ละปี
  • ความมั่นคงด้านอาหาร มีการคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2014 มีแนวโน้มว่าร้อยละ 64 ของประชากรโลกอาจต้องประสบกับภาวะอาหารไม่เพียงพอ16 ปัญหาวิกฤตภาวะโลกร้อนจะทำให้ผลผลิตการเกษตรลดปริมาณลงครึ่งหนึ่งในอีกไม่เกิน 20 ปี มีรายงานจากประเทศอังกฤษเมื่อปี ค.ศ.2004 ที่ระบุว่าปัญหาวิกฤตภาวะโลกร้อนเป็นภัยที่อันตรายและน่ากลัวกว่าภัยจากผู้ก่อการร้าย17
  • ถึงแม้โลกของเราจะประกอบด้วยน้ำถึงร้อยละ 70 แต่ในจำนวนนี้เป็นน้ำจืดเพียงร้อยละ 3 เท่านั้น และน้ำจืดที่สามารถนำมาใช้ได้จริงมีเพียงร้อยละ 0.5 เพราะที่เหลือร้อยละ 2.5 ถูกกักเก็บในรูปของน้ำแข็งตามธารน้ำแข็งทั้งหลายทั่วโลก ซึ่งกำลังละลายลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็วเพราะภาวะโลกร้อน ร้อยละ 70 ของน้ำจืดที่ใช้ได้ ถูกใช้ไปในภาคการเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการเกษตรแบบเคมี ประกอบกับจำนวนประชากรโลกที่กำลังเพิ่มมากขึ้น ทำให้โลกกำลังเผชิญปัญหาวิกฤตการขาดแคลนน้ำจืดเพื่อใช้ โดยเฉพาะในภาคการเกษตร ประมาณว่าในปี ค.ศ.2050 มนุษย์แต่ละคนจะมีน้ำจืดเหลือให้ใช้เพียงร้อยละ 25 ของน้ำที่มีใช้เมื่อปี ค.ศ.195018
  • ปัจจุบันกว่าร้อยละ 95 ของเมล็ดพันธุ์พืชได้สูญพันธุ์ไป เกษตรกรต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ลูกผสมหรือเมล็ดพันธุ์ตัดแต่งพันธุ์กรรม (จีเอ็มโอ) ของบรรษัทข้ามชาติที่ครองตลาดโลกอยู่เพียงไม่กี่ราย19 การสูญพันธุ์ไปของสายพันธุ์พืชในโลกถึงร้อยละ 95 โดยเฉพาะพืชท้องถิ่นที่สามารถต้านทานโรคและแมลงศัตรูพืชท้องถิ่นได้ดี รวมทั้งสมุนไพรที่ใช้เป็นยารักษาโรคหลากหลายชนิด ได้กลายเป็นปัญหาวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพของโลก และสมดุลของระบบนิเวศโดยรวม
  • ผลการวิจัยใน 15 ประเทศทั่วโลกชี้ชัดว่า แปลงเกษตรขนาดเล็กหรือของเกษตรกรรายย่อยที่ปลูกพืชผสมผสานและใช้วิธีการเกษตรแบบดั่งเดิม ให้ผลผลิตต่อพื้นที่สูงกว่าผลผลิตของไร่ขนาดใหญ่ 4-5 เท่า การศึกษาในประเทศรัสเซียพบว่า ผลผลิตการเกษตรร้อยละ 30-50 ของประเทศมาจากแปลงเกษตรขนาดเล็กของเกษตรกรรายย่อย หรือสวนภายในบริเวณบ้าน ซึ่งคิดรวมเป็นพื้นที่เพียงร้อยละ 3-5 ของพื้นที่เพราะปลูกทั้งหมดในประเทศ20

นักวิทยาศาสตร์ได้ประมาณว่า หากเรายังดำเนินวิถีชีวิตและทำการเกษตรตามแนวทางของศตวรรษที่ 20 เช่นนี้ต่อไป ในเวลาอีกไม่ถึง 10 ปี โลกเราจะมีที่ดินที่สามารถทำการเพาะปลูกเพื่อปลูกอาหารเลี้ยงคนบนโลกเหลือเฉลี่ยไม่เกิน 200 ตร.ว.ต่อคน (วิธีการเกษตรในปัจจุบันต้องใช้พื้นที่ 1.33 ไร่เพื่อปลูกอาหารให้ครบโภชนาการสำหรับเลี้ยงคน 1 คน) แต่สถิติเมื่อปี 2535 ชี้ว่าหลายประเทศทั่วโลกมีน้ำสำหรับพื้นที่การเกษตรราว 100 ตร.ว.ต่อคนเท่านั้น นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าหากภาวะเช่นนี้ยังคงดำเนินต่อไป ทั่วโลกอาจจะมีดินเหลือให้ทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงคนบนโลกได้อีกไม่เกิน 50 ปีเท่านั้น21

ถึงแม้เกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทยจะเป็นเกษตรกรรายย่อย แต่ด้วยผลพวงของการปฏิวัติเขียวในยุดก่อนได้ทำให้ระบบการทำการเกษตรในประเทศไทยเปลี่ยนแปลงจากการทำการเกษตรเพื่ออยู่เพื่อกิน มาเป็นทำการเกษตรแผนใหม่ที่มุ่งเพื่อขายเป็นหลัก และได้เริ่มต้นมาตั้งแต่มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรกเมื่อปี 2504 เกษตรกรไทยหันมาทำการเกษตรตามวิธีที่ภาครัฐส่งเสริม เริ่มปลี่ยนจากการใช้พันธุ์พืชท้องถิ่นของที่มีการพัฒนาการคัดเลือกสายพันธุ์ตกทอดกันมา ไปใช้พันธุ์พืชจากผลการวิจัยของภาครัฐที่ตอบสนองต่อปัจจัยการผลิตจากภายนอก โดยเชื่อว่าพันธุ์พืชใหม่ๆ จะช่วยเพิ่มปริมาณผลผลิต ทำให้มีอาหารมากขึ้นและมีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรหลุดพ้นจากความอดอยากยากจนได้ แต่ความเป็นจริงกลับไม่เป็นดั่งที่คิด ผลผลิตที่ได้จากการทำการเกษตรแนวปฏิวัติเขียวในช่วงปลายสหัสวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ทั้งที่เคยเพิ่มขึ้นสูงกว่านี้ในระยะแรก อัตราการเพิ่มของผลผลิตเริ่มลดลงไม่ว่าจะเพิ่มปุ๋ยเคมีเข้าไปปริมาณมากเท่าใดก็ตาม ซึ่งเป็นเพราะสภาพดินได้เสื่อมโทรมไปมากแล้ว ในขณะเดียวกัน ต้นทุนปัจจัยการผลิตที่เกษตรกรต้องซื้อจากภายนอก ทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

การใช้สารเคมีการเกษตรของเกษตรกรไทยในปัจจุบันมีมูลค่าสูงกว่า 1 ใน 3 (ร้อยละ 30-40) ของต้นทุนการปลูกพืชทั้งหมด22 ความหวังที่จะได้อาหารเพิ่มขึ้นก็ไม่เป็นจริง เพราะวิธีการทำการเกษตรเชิงเดี่ยว (Mono Crop) ที่เน้นปลูกพืชชนิดเดียวในพื้นที่ขนาดใหญ่ ได้ทำลายระบบการเกษตรแบบดั้งเดิมที่เป็นเกษตรแบบผสมผสาน มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายๆ ชนิดในพื้นที่เดียวกัน ถึงแม้เกษตรกรจะปลูกข้าวได้มากขึ้น แต่ก็ต้องเอาเงินที่ได้มาไปซื้อปลา ไก่ ไข่ ผัก และผลไม้ต่างๆ ทั้งที่แต่เดิมเคยหาเก็บหาใช้ได้จากรอบๆ บริเวณบ้านโดยไม่ต้องเสียเงินซื้อหามา

เมื่อวิธีการทำเกษตรกรรมของยุคปฏิวัติเขียวที่ต้องการควบคุมและเอาชนะธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีและสารเคมี ได้ทำให้ดินเสียจนเกือบหมดทั้งโลก แต่แทนที่นักวิทยาศาสตร์การเกษตรกระแสหลักจะคิดหาวิธีการฟื้นฟูดินเพื่อให้สามารถกลับมาอุดมสมบูรณ์และสามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพเลี้ยงประชากรโลกที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น กลับไปคิดค้นและนำเสนอเทคโนโลยีการปลูกพืชไร้ดิน (Hydroponic) ซึ่งเป็นวิธีการปลูกพืชที่ผิดธรรมชาติหนักขึ้นไปอีก โดยหวังความสะดวกในการดูแลและควบคุมผลผลิตที่ได้ แต่ขาดความเข้าใจกระบวนการของธรรมชาติ และไม่ตระหนักถึงผลเสียต่อสุขภาพที่จะตามมานระยะยาว

พืชผักผลไม้ส่วนใหญ่ที่เติบโตในดินโดยธรรมชาติ จะได้รับสารอาหารและแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายหลากหลายชนิดจากดิน ถึงแม้แร่ธาตุบางชนิดอาจจะไม่มีอยู่ในดินบริเวณนั้นมาก่อน แต่กระบวนการของธรรมชาติก็สามารถจัดสรรให้จุลินทรีย์ในดินช่วยผลิตขึ้นมาเพิ่มให้ได้ กระบวนการสร้างความสมดุลของระบบนิเวศโดยธรรมชาตินับเป็นความอัศจรรย์อย่างหนึ่งของธรรมชาติ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่ว่าก้าวหน้า ที่จริงแล้วก็ยังไม่สามารถเข้าใจและอธิบายกลไกธรรมชาติอีกมากมาย เพราะพรมแดนความรู้ทางวิทยาศาสตร์ของมนุษย์ในปัจจุบันยังถือเป็นเพียงกระพี้ของระบบองค์รวมของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่

ดังนั้นวิธีการปลูกผักแบบไร้ดินที่ถึงแม้ผู้ผลิตจะยืนยันว่าไม่มีสารเคมีที่เป็นยาฆ่าแมลง แต่สารอาหารพืชที่ใส่ลงในน้ำที่ใช้ปลูกก็เป็นสารสังเคราะห์ และมีเพียงไม่กี่ชนิด (ส่วนมากใช้สารเคมี 16 ชนิด) จึงย่อมไม่สามารถทำให้ผลผลิตที่ได้มีแร่ธาตุสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพของผู้บริโภคมากเท่ากับพืชผักที่ปลูกในดินอุดมสมบูรณ์ที่มีธาตุอาหารพืชเป็นพันๆ ชนิดอย่างแน่นอน ถึงแม้ ผู้ประกอบการในธุรกิจผักไร้ดินจะมีการนำเสนอว่าผลผลิตผักไร้ดินมีคุณค่าอาหารครบถ้วนตามหลักโภชนาการไม่ด้อยกว่าผักที่ปลูกในดิน เพราะได้รวมเอาสารอาหารที่จำเป็นทุกชนิดไว้ในส่วนผสมในการปลูกอย่างครบถ้วน และมีผลการศึกษาวิจัยที่สนับสนุนข้ออ้างนี้ออกมาเผยแพร่จำนวนไม่น้อย ตลอดจนอ้างผลสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคว่าผักที่ปลูกแบบไร้ดินมีรสชาดของดีกว่าผักที่ปลูกในดินแบบเกษตรเคมี ฯลฯ

ถ้าหากยังจำกันได้ เมื่อสิบกว่าปีก่อนก็มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและสถานบันวิจัยหลายแห่งออกมาเผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยว่าผักอินทรีย์ไม่ได้มีคุณค่าทางโภชนาการมากไปกว่าผักจากเกษตรเคมีเลย แต่ในปัจจุบันความจริงเกี่ยวกับคุณค่าทางโภชนาการของผลผลิตเกษตรอินทรีย์ก็เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปว่าสูงกว่าผักเคมีมากมาย โดยเฉพาะสารอาหารพวกธาตุอาหารรองหลายร้อยหลายพันชนิดที่ผักเคมีไม่มี ในกลุ่มเกษตรกรที่ใช้วีธีการระบบเกษตรพลวัต (Bio Dynamic) และเกษตรธรรมชาติธรรมชาติ (Natural Farming) ที่เข้มข้นกว่าเกษตรอินทรีย์ทั่วไปด้วยแล้ว ยังสามารถแสดงให้เห็นถึงความมีอยู่ของพลังชีวิตซึ่งจับต้องไม่ได้ในผลผลิต แต่ที่พิสูจน์ให้เห็นได้ว่ามีอยู่จริง และมีอยู่มากกว่าในผลผลิตเกษตรอินทรัย์ทั่วไปด้วย

เมื่อตลาดมีความเชื่อมมั่นและต้องการผลผลิตเกษตรอินทรีย์เพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการในธุรกิจพืชผักไร้ดินก็มีการปรับตัวด้านการตลาด เริ่มประกาศว่ามีการใช้สารสกัดอินทรีย์ในการปลูกผักไร้ดิน และเรียกผลผลิตที่ได้ว่า Hydro-Organic เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าผลผลิตเกษตรไร้ดินเป็นผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แม้กระทั่งหน่วยงานภาครัฐที่ส่งเสริมการเกษตรก็ได้เข้ามาช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการปลูกพืชผักไร้ดินอย่างกว้างขวาง ตามไม่ทันกลไกภาคธุรกิจและให้ความรู้ความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องกับผู้บริโภคว่า ผักไร้ดินเป็นผักอินทรีย์ และมีสารอาหารที่เป็นประโยชน์กับสุขภาพครบถ้วนไม่แตกต่างกับผักที่ปลูกด้วยดิน แต่จากมุมมองของผู้ที่เข้าใจและเชื่อมั่นในกระบวนการธรรมชาติแล้ว วิธีการที่ผิดธรรมชาติย่อมไม่อาจให้ผลที่เหมือนกับธรรมชาติได้อย่างแน่นอน และจะทำให้ผู้บริโภคมีปัญหาสุขภาพตามมาในระยะยาวได้

นอกจากปัญหาในเรื่องปริมาณสารอาหารในผลผลิตผักไร้ดินที่จะมีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภคแล้ว การส่งเสริมการปลูกผักไร้ดินตามกระแสตลาดโดยไม่คิดให้รอบครอบ ยังสามารถเพิ่มปัญหาให้กับภาคการเกษตรและเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมได้อีกด้วย เพราะปุ๋ยเคมีหรือสารสกัดอินทรีย์ที่ใช้ในการปลูกผักไร้ดินส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งราคามีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นและทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เกษตรกรส่วนใหญ่ก็ไม่มีเงินทุนเพื่อสร้างโรงเรือนและ/หรือซื้ออุปกรณ์การปลูกผักไร้ดินที่มีราคาสูง ผู้ที่ทำเกษตรไร้ดินส่วนใหญ่จึงเป็นนักลงทุนในธุรกิจการเกษตร การส่งเสริมการทำเกษตรไร้ดินจึงไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจนและหนี้สินของเกษตรกรส่วนใหญ่ อีกทั้งการสร้างโรงเรือนและ/หรือการตั้งอุปกรณ์การปลูกบนดินยังเป็นการเสียพื้นผิวดินเพื่อการเพาะปลูกที่สามารถให้ผลผลิตที่มีคุณค่าอาหารและเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพของผู้บริโภคมากกว่า หากรู้จักวิธีการฟื้นฟูและบำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดินตามกระบวนการของธรรมชาติ

สถานการณ์ต่างๆที่กล่าวมาและกำลังเกิดขึ้นเหล่านี้ ทำให้ต้องมีคำถามตามมาว่า เกิดอะไรขึ้นกับระบบเกษตรกรรม และระบบการผลิตอาหารของประเทศไทย และของโลก?

ปัญหาท้าทายที่ต้องแก้ไข

กลับสู่ด้านบน

การปฏิวัติเขียวหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ทำให้วิธีการใช้และดูแลดินเพื่อการเกษตรเปลี่ยนแปลงไป อุตสาหกรรมการเกษตรได้ทำให้ดินกลายเป็นทรัพยากรที่ถูกลืม ดูดใช้ทรัพยากรจากดินโดยไม่ตระหนักถึงความมีชีวิตของดิน การใช้สารเคมีการเกษตรอย่างมหาศาลและการสร้างเมล็ดพันธุ์ลูกผสมเพื่อหวังเพิ่มปริมาณผลผลิต ประกอบกับระบบการครอบครองและผูกขาดตลาดภาคการเกษตรของบรรษัทยักษ์ใหญ่ไม่กี่แห่งเพื่อหวังผลกำไร และสังคมบริโภคนิยมที่เฟื่องฟู ได้ทำให้ผู้ผลิตในภาคการเกษตรมุ่งเน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการทำลายระบบความสมดุลของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะดิน ซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญที่สุดในการทำเกษตรกรรม จนส่งผลกระทบที่รุนแรงกว้างขวาง และเป็นผลให้กลายเป็นปัญหาวิกฤตระดับโลกในปัจจุบัน ซึ่งนอกเหนือจากวิกฤตพลังงาน วิกฤตโลกร้อน วิกฤตความมั่นคงด้านอาหาร และวิกฤตสุขภาพแล้ว มนุษย์เรายังกำลังเผชิญกับวิกฤตร้ายแรงที่จะมีผลต่อความอยู่รอดได้แก่ วิกฤตพื้นดินที่จะสามารถใช้ทำการเพาะปลูกได้ และวิกฤตน้ำจืดขาดแคลนอีกด้วย

เราทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าโลกของเรากำลังร้อนขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการเชื่อเพลิงจากฟอสซิล ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ความร้อนเฉลี่ยที่ผิวโลกได้เพิ่มสูงขึ้นราว 0.7?C และคาดการณ์ว่าภายในสิ้นศตวรรษนี้จะเพิ่มสูงขึ้นกว่าอุณหภูมิเมื่อปี 2533 ถึง 4?C23 ธรรมชาติต้องใช้เวลาหลายล้านล้านปีในการทำให้พื้นผิวโลกเย็นลงจนสิ่งมีชีวิตสามารถดำรงอยู่ได้ โดยค่อยๆ นำคาร์บอนในอากาศลงไปเก็บไว้ใต้ดินในรูปของซากฟอสซิล แต่ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมในช่วงไม่กี่ร้อยปีที่ผ่านมา มนุษย์ได้นำคาร์บอนที่ธรรมชาติเอาไปเก็บไว้ใต้ดินกลับมาปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้เพิ่มความร้อนให้กับผิวโลกดังที่เป็นอยู่ การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างมาหาศาลในระยะเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปี ได้ทำให้การเพิ่มของกำลังการผลิตน้ำมันเริ่มน้อยการเพิ่มของความต้องการใช้น้ำมัน ทำให้ราคาของน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับแหล่งน้ำมันจากฟอสซิลใต้ดินกำลังจะหมดโลก เป็นผลให้โลกเข้าสู่ยุคน้ำมันขาดแคลน เผชิญกับปัญหาวิกฤตพลังงาน และยุคของน้ำมันจากฟอสซิลกำลังจะหมดลงในไม่ช้า

เนื่องจากสารเคมีการเกษตรส่วนใหญ่ ทั้งปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ล้วนเป็นผลผลิตจากน้ำมันปิโตรเลียม ดังนั้นราคาจึงมีแต่จะเพิ่มสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน ทำให้เกษตรกรที่ทำเกษตรเคมีจะต้องรับภาระต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นเร็วกว่าและมาก กว่าการเพิ่มของราคาผลผลิตการเกษตร

ผลจากการวิจัยต่อเนื่องระยะยาวในสหรัฐอเมริกาเรื่องวิธีทำการเกษตรสมัยใหม่ ชี้ว่าความเชื่อของยุคปฏิวัติเขียวที่ว่าปุ๋ยไนโตรเจนช่วยสร้างอินทรีย์วัตถุให้กับดินนั้นไม่เป็นความจริง ในทางตรงข้าม นอกจากปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์ที่ใส่ลงในดินอย่างมหาศาลจะไม่มีส่วนช่วยบำรุงดินแล้ว ยังสร้างผลกระทบทางลบต่อระบบนิเวศในวงกว้างอีกด้วย ผลการวิจัยทั่วโลกชี้ชัดแล้วว่า สารเคมีเพื่อการเกษตรเป็นตัวการทำให้ดินเสื่อมโทรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการในการปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นอุตสาหกรรม ซึ่งต้องใช้ปุ๋ยเคมีสังเคราะห์เพื่อเป็นอาหารสำหรับพืชในปริมาณสูง ปุ๋ยไนโตรเจนสังเคราะห์จำนวนมากจะตกค้างอยู่ในดิน ส่วนหนึ่งถูกน้ำชะไหลลงสู่แหล่งน้ำ ทำให้แหล่งน้ำต่างๆ มีสารอาหารมากเกินสำหรับพืชน้ำ สาหร่ายและตะไคร้น้ำที่ได้รับปุ๋ยไนโตรเจนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและแย่งใช้อ๊อกซิเจนในน้ำจนน้ำเน่าเสีย ปลาและสิ่งมีชีวิตในน้ำไม่สามารถอาศัยหรืออยู่รอดได้ ทำให้เสียสมดุลระบบธรรมชาติของแหล่งน้ำไป การใส่ปุ๋ยและสารเคมีมากเกินไปยังนับเป็นการสูญเสียพลังงานที่ใช้ไปในการผลิตสารเคมีเกษตรเหล่านั้น รวมทั้งยังส่งผลต่อสุขภาพของสัตว์และมนุษย์ ทั้งผู้ปลูกและผู้บริโภคอย่างไม่เคยมีมาก่อน

ด้วยการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ได้ทำให้มนุษย์มีชีวิต ยืนยาวขึ้น อัตราการตายลดลง ขณะที่อัตราการเกิดและอยู่รอดเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลก เป็นผลให้ประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตัวเลขขององค์การสหประชาชาติชี้ว่า มีคนเกิดใหม่บนโลกวันละ 213,000 คน หากจะปลูกพืชอาหารเพื่อเลี้ยงคนเหล่านี้ จะต้องใช้ที่ดินเพิ่มขึ้น 13,500 ไร่ทุกวัน24 นอกจากนี้ข้อมูลจากการวิจัยในสหรัฐอเมริกา25 ชี้ว่า ผลผลิตจากวิธีทำการเกษตรเชิงอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรการเกษตรไม่ว่าจะเป็นแบบใช้สารเคมีหรือเกษตรอินทรีย์แบบธรรมดา จะให้ผลผลิตใกล้เคียงกัน ดังนั้นหากใช้วิธีทำการเกษตรทั้งสองวิธีนี้เพื่อผลิตอาหารเลี้ยงคนในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีประชากรราวร้อยละ 90 ของโลก ไม่ว่าจะทำเป็นฟาร์มขนาดใหญ่หรือโดยเกษตรกรรายย่อย จะต้องใช้ที่ดิน 1.33 ไร่ เพื่อปลูกพืชเลี้ยงคนหนึ่งคนภายใต้สมมติฐานว่าทุกคนไม่กินเนื้อสัตว์เลย และเนื่องจากประชาคมโลกได้กำหนดสัดส่วนพื้นที่ป่าที่ต้องคงไว้เพื่อรักษาความสมดุลของระบบนิเวศของโลก ทำให้มีการคาดการณ์ว่า ในปี 2557 จะมีที่ดินเหลือสำหรับทำการเกษตรเพียงคนละ 343 ตร.ว. (0.86 ไร่) ดังนั้น หากยังมีการใช้วิธีการเกษตรแบบอุตสาหกรรมกระแสหลักต่อไป ไม่ว่าจะเป็นแบบใช้สารเคมีหรือแบบเกษตรอินทรีย์ จะสามารถผลิตอาหารได้เพียงร้อยละ 64 ของปริมาณที่ต้องใช้เลี้ยงคนบนโลกในเวลานั้น

?…เกษตรกรรมแบบยั่งยืนสามารถผลิตอาหารเพียงพอสำหรับประชากรโลกในปัจจุบัน หรือแม้กระทั่งประชากรจำนวนมากขึ้น โดยไม่ต้องเพิ่มพื้นที่เพื่อทำการเกษตรจากที่มีอยู่?

– IAASTD (2009), Agriculture at a Crossroads: A Global Report

การสร้างความมั่นคงด้านอาหารจึงเป็นสิ่งจำเป็นและเร่งด่วน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงวิธีทำการเกษตรให้สามารถเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ และกระบวนการผลิตต้องสามารถสร้างความยั่งยืนให้สิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้

ในส่วนของปัญหาภาวะโลกร้อน มีคำถามว่าการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิผิวโลกดังที่เป็นอยู่จะมีผลอย่าไรกับประชากรโลกและผลผลิตการเกษตร?

ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า อุณหภูมิความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นเมื่อปี 2543 ได้คร่าชีวิตคนไป 160,000 คน และคาดว่าตัวเลขจะเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 256326 นอกจากนี้ เมื่ออุณหภูมิผิวโลกเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้

  • ผลผลิตการเกษตรลดลงเนื่องจากพืชต่างๆ ไม่สามารถปรับตัวรับกับความร้อนที่เพิ่มสูงขึ้นได้
  • ฝนตกผิดฤดูกาลอย่างที่พบเห็นได้ในปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะฝนแล้ง น้ำท่วม และพิบัติภัยที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ทำให้คนต้องสูญเสียที่ดิน
  • จากการกัดเซาะของน้ำและลม ดินถล่ม และทำลายแหล่งน้ำจืดที่เป็นน้ำกินน้ำใช้ รวมทั้งหน้าดิน ทำให้ขาดแคลนที่ดินทำกินและอยู่อาศัย
  • อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นทำให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกทั้งเหนือและใต้ละลายเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนท่วมเมืองต่างๆ ตามชายฝั่งทะเลทั่วโลก เป็นผลให้สูญเสียที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยมากมาย
  • การสูญสียที่ดินทำกินนำไปสู่ภาวะขาดแคลนอาหาร เกิดความอดอยาก กลายเป็นปัญหาวิกฤตด้านอาหารของหลายประเทศในโลก ขณะที่การสูญเสียที่ดินทำให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นเพื่อหาที่ทำกินและที่อยู่อาศัยใหม่ นำไปสู่ปัญหาการแย่งที่ดินเพื่ออยู่อาศัยและ/หรือทำมาหากิน

วิธีการทำเกษตรกรรมในปัจจุบันยังเป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเพิ่มปริมาณก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศโลก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนและสภาพภูมิอากาศแปรปรวน

  • ร้อยละ 12 ของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศมาจากพื้นดินที่ทำการเกษตรทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่ยังเป็นการเกษตรแบบเคมี27
  • ร้อยละ 25 ของก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2) ที่ปล่อยสู่บรรยากาศโลกมาจากการตัดถางและเผาป่าเพื่อขยายพื้นที่ทำการเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์ การเผาอินทรีย์วัตถุ (biomass) และการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ซึ่งจะเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย ไฟจุดหรือไฟป่าที่เกิดจากคนจุด เพิ่มจำนวนและขยายพื้นที่เสียหายมากขึ้นทุกปี เฉพาะในปี 2553 เกิดไฟป่าและไฟจุดรวม 6,784 ครั้ง ทำให้มีพื้นที่เสียหาย 83,176 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปี 2552 จำนวน 22,091 ไร่ หรือราวร้อยละ 27 และคาดการณ์ว่าปัญหาการเผาป่าจะมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นในปีนี้ เนื่องจากความแห้งแล้งทำให้มีเชื้อเพลิงเหลืออยู่มาก28
  • การเลี้ยงปศุสัตว์ซึ่งใช้ที่ดินร้อยละ 70 ของที่ดินในภาคการเกษตรทั้งหมด ประกอบกับการเพาะปลูกข้าวในพื้นที่ลุ่ม เป็นต้นต่อของร้อยละ 50 ของก๊าซมีเทน (CH4) และมากกว่าร้อยละ 70 ของไนตรัสอ๊อกไซด์ (N2O) ที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศโลก29

หากเปรียบเทียบปริมาณก๊าซเรือนกระจกทุกชนิดให้เป็นปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2) ปัจจุบันโลกของเรามีปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศราว 384 ส่วนต่อล้านส่วน (parts per million-ppm) ซึ่งสูงที่สุดในรอบ 150,000 ปีที่ผ่านมา เทียบกับระดับ CO2 ในชั้นบรรยากาศก่อนยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งมีอยู่ราว 270 ppm และด้วยพฤติกรรมที่เป็นอยู่ของชาวโลกในปัจจุบัน มีแนวโน้มว่าปริมาณ CO2 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 600-700 ppm ภายในปี 264330 เมื่อเดือนมกราคมปี 2553 นักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศขององค์การนาซ่าได้เสนอเป้าการลดปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศเพื่อแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศแปรปรวนไว้ที่ 350 ppm เป้าหมายนี้เมื่อเทียบกับแนวโน้มที่เป็นอยู่ก็อาจดูค่อนข้างต่ำ แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี

ประเด็นสำคัญคือ เราจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างไร? เราจะมีระบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืนแบบใดที่สามารถเพิ่มผลผลิตเพื่อเลี้ยงประชากรโลกที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยทรัพยากรที่มีอยู่จำกัดและกำลังลดน้อยลงทุกขณะ รวมถึงที่ดินเพื่อการเพาะปลูกพืชอาหาร ซึ่งต้องแย่งกับที่ดินเพื่อปลูกพืชพลังงาน น้ำจืดเพื่อการเกษตร ซึ่งต้องแบ่งไว้เพื่อการบริโภคของมนุษย์ และการสูญเสียหน้าดินที่อุดมสมบูรณ์ไปทุกปีจากการทำเกษตรเคมี ?

รวบรวมและเรียบเรียง – ทัศนีย์ เศรษฐ์บุญสร้าง
tatsanee@NawaChiOne.org
? สงวนลิขสิทธิ์
อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาที่ไม่เป็นธุรกิจ แต่ขอให้อ้างอิงแหล่งที่มาด้วย

กลับสู่ด้านบน

————————————————————————————————

เชิงอรรถ

1John Jeavons, How to Grow More Vegetables, Ecology Action, USA. 2002.
2ภาพยนต์สารคดีเรื่อง ชีวิตในดิน โดย มูลนิธิเอ็มโอเอ
3ภาพยนต์สารคดีเรื่อง Dirt
4ข้อมูลจากฐานข้อมูลมากกว่า 40 ปี ขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)
5มูลนิธิชีววิถี คู่มือประชาชน เรื่อง ความ(ไม่)มั่นคงทางอาหาร กับทางออกของประเทศไทย
6คำบรรยายของ ศ.ดร.นพ.สมศักดิ์ วรคามิน อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข
7เพื่อนสุขภาพ เลมอนฟาร์ม ก.พ.-มี.ค. 2554
8ASTV ผู้จัดการออนไลน์ เผย ?มะเร็ง? สาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทย 10 ปีซ้อน 3 กุมภาพันธ์ 2555
9แผนงานพืชอาหารเชียงใหม่ปลอดภัย, สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่, 2551
10คำแถลงของ นพ.โสภณ เมฆทน รองอธิบดีกรมอนามัย ณ. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
11คำแถลงของ นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา อธิบดีกรมอนามัย, 7 ธ.ค. 2551
12Richard Heinberg, autor of The Party?s Over: Oil, War, and the Fate of Industrial Societies.
13World Health Organization, 2007
14UN-FAO, 2009
15Based on study by Biosphere II in Arizona
16UN Sustainable Development Innovation Brief, May 2009
17Climate Change and Grow Biointensive, a perspective from Ecology Action
18FAO Aquastats
19บทความ Who Owns Nature? Corporate Power and the Final Frontier in the Commodification of Life ในนิตยสาร ETC (2008) ชี้ว่า เกือบครึ่งหนึ่งของตลาดเมล็พันธุ์ของโลกอยู่ในมือของบรรษัทข้ามชาติเพียง 3 แห่ง คือ มอนซานโต้ ดูปองท์ และซินเจนต้า ส่วนร้อยละ 80 ของตลาดพืชตัดแต่งพันธุ์กรรม (GMO) อยู่ในมือของบริษัทมอนซานโต้เพียงบริษัทเดียว
20Rodale Institute, Regenerative Organic Farming: A Solution to Global Warming, 2008
21Grain, ?Earth Matters: Tracking Climate Crisis from the Ground Up?, Seeding, Oct. 2009.
22สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร 2550
23US EPA, Basic Information on Climate Change, www.epa.gov/climatechange/basicinfo.html
24United Nation
25Ecology Action (2010), ibid.
26World Health Organization, reported by Climate Institute, www.climate.org/topics/health.html
27Intergovernmental Panel on Climate Change (PCC)?s report
28คำให้สัมภาษณ์ของ นายสุวิทย์ รัตนมณี อธิบดีกรมป่าไม้, ไทยรัฐ 15 มีนาคม 2554
29Climate Institute, Agriculture, www.climate.org/topics/agriculture.html
30Climate Institute, Climate Change, www.climate.org/topics/climate-change/index.html

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *