ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน


สารบัญ

ดาวน์โหลด PDF

————————————————————————————————

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน

กลับสู่ด้านบน

ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน (Sustainable Agriculture) หรือ ระบบเกษตรกรรมทางเลือก (Alternative Agriculture) หรือ ระบบเกษตรกรรมถาวร (Permanent Agriculture หรือ Permacutlure) ล้วนเป็นระบบเกษตรกรรมที่มีหลักการใหญ่ๆ คล้ายคลึงกัน มีผู้ให้คำจำกัดความและความหมายของแนวทางเกษตรกรรมทางเลือก-เกษตรกรรมยั่งยืนไว้มากมาย แต่ส่วนใหญ่จะใกล้เคียงกัน โดยให้ความสำคัญกับสมดุลของระบบนิเวศ ผลผลิต คุณภาพที่ดี และเพียงพอต่อเกษตรกรและผู้บริโภค การพึ่งพาตนเอง รวมทั้งการให้ความสำคัญกับชุมชนท้องถิ่น หลัการสำคัญที่สุดที่มีร่วมกันของเกษตรกรรมทางเลือก-เกษตรกรรมยั่งยืน คือ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการผลิตอาหารและปัจจัยที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตมากกว่าผลิตเพื่อการส่งออก (เกษตรกรจึงไม่ต้องวิ่งไปตามกระแสของตลาด) มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยไม่เกิดผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม ระบบการผลิต การบริโภค และการใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นมีความสมดุล อาหารที่ผลิตได้เป็นอาหารที่มีคุณภาพปลอดภัยจากสารพิษตกค้าง และเปิดโอกาสให้สมาชิกในครอบครัวสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างมีความสุข สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน ทำให้ระบบเกษตรกรรมเหล่านี้ดำเนินต่อเนื่องไปได้นานที่สุด โดยไม่มีผลกระทบด้านลบต่อระบบนิเวศวิทยา และไม่เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ

ความหมายของเกษตรกรรมยั่งยืน

กลับสู่ด้านบน

องค์การสหประชาชาติได้ให้ความหมายของเกษตรกรรมยั่งยืนว่า เป็นระบบเกษตรกรรมที่เกี่ยวข้อกับการผสมผสานและเชื่อมโยงระหว่างดิน การเพาะปลูก และการเลี้ยงสัตว์ การเลิกหรือลดการใช้ทรัพยากรจากภายนอกระบบที่อาจเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและ/หรือสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ตลอดจนเน้นการใช้เทคนิคที่เป็นหรือปรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการธรรมชาติของท้องถิ่นนั้นๆ ซึ่งมีหลักการพื้นฐาน 3 ประการคือ:

  • ความยั่งยืนด้านเศรษฐกิจ ด้วยการพัฒนาการจัดการดินและการหมุนเวียนการปลูกพืชที่ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการพึ่งพาเครื่องจักรและสารเคมีเพื่อการเกษตร ทั้งปุ๋ยและสารป้องกันกำจัดวัชพืชและศัตรูพืช
  • ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ด้วยการปกป้องและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และหาสิ่งทดแทนตบอดจนนำทรัพยากรธรรมชาติกลับมาเวียนใช้ใหม่ เช่น ที่ดิน (ดิน) น้ำ และสิ่งมีชีวิตในป่า หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีสังเคราะห์ที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม โครงสร้างของดิน และความหลากหลายทางชีวภาพ
  • ความยั่งยืนด้านสังคม ด้วยการใช้แรงงานที่มีอยู่ให้มากขึ้น อย่างน้อยสำหรับเทคนิคการเกษตรบางประเภท เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและความเป็นปึกแผ่นในสังคม

สำหรับในประเทศไทย ขบวนการเกษตรกรรมทางเลือก-เกษตรกรรมยั่งยืนได้เกิดขึ้นมาเกือบ 3 ทศวรรษ โดยเริ่มต้นจากการรวมตัวกันของภาคประชาชนครั้งแรกเมื่อปลายทศวรรษ 2520 มีผู้เกี่ยวข้องทั้งนักพัฒนาจากองค์กรภาคเอกชน นักวิชาการ นักวางแผน และข้าราชการที่ทำหน้าที่ส่งเสริมการเกษตร ได้ให้คำจำกัดความและความหมายของแนวทางเกษตรกรรมยั่งยืนไว้มากมาย ซึ่งคณะทำงานวิชาการ สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกครั้งที่ 1 ปี 2535 ได้นำมาประมวลเป็นนิยามของเกษตรกรรมยั่งยืนไว้ว่า ?เป็นวิถีเกษตรกรรมที่ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศ สามารถผลิตอาหารที่มีคุณภาพและพอเพียงตามความจำเป็นพื้นฐานเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของเกษตรกรและผู้บริโภค พึ่งพาตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเอื้ออำนวยให้เกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นสามารถพัฒนาได้อย่างเป็นอิสระ ทั้งนี้เพื่อความผาสุกและความอยู่รอดของมวลมนุษย์ชาติโดยรวม? 1

ท่ามกลางกระแสการผลักดันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่ต้องการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืนเพื่อตอบสนองการส่งออก รวมทั้งการเข้ามาควบคุมนโยบายการเกษตร โดยไม่ให้ความสำคัญกับเกษตรกรและชุมชนท้องถิ่นที่เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนตามที่ควรจะเป็น คณะทำงานวิชาการ สมัชชาเกษตรกรรมทางเลือกครั้งที่ 3 ปี 2547 จึงได้เพิ่มเติมนัยความหมายที่ให้ความสำคัญมากขึ้นกับเป้าหมายการผลิตอาหารให้พอเพียงต่อครอบครัวและชุมชนเป็นเบื้องต้น และได้ขยายความเพื่อให้เข้าใจความหมายและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับเกษตรกรรมยั่งยืนได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยกำหนดเป็นหลักการ 10 ประการของเกษตรกรรมยั่งยืนไว้ อันได้แก่2

  1. ใช้ประโยชน์และพัฒนาภูมิปัญญาพื้นบ้านเพื่อใช้ในระบบเกษตรกรรม
  2. ส่งเสริมให้เกษตรกรมีบทบาทหลักในการพัฒนาความรู้และการวิจัยทางการเกษตร
  3. ใช้ทรัพยากรจากภายใน(พื้นที่/ระบบ)และลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก(พื้นที่/ระบบ)
  4. หลีกเลี่ยงและปฏิเสธการใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร และผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเชื้อเพลิงฟอสซิล
  5. ให้ความสำคัญสูงสุดในการปรับปรุงบำรุงดินให้ดำรงอยู่ได้อย่างยั่งยืน
  6. ใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ สร้างความหลากหลายของกิจกรรมการผลิตทางการเกษตรในไร่นา และผสมผสานกิจกรรมการผลิตให้เกื้อกูลประโยชน์ต่อกันอย่างสูงสุดควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ และวิธีการซึ่งไม่ใช้สารเคมีรูปแบบต่างๆ
  7. ควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีธรรมชาติ และวิธีการซึ่งไม่ใช้สารเคมีรูปแบบต่างๆ
  8. ปฏิบัติต่อธรรมชาติและสิ่งมีชีวิตอื่นด้วยความเคารพ
  9. ผลิตอาหารที่มีคุณภาพทางโภชนาการ มีธาตุอาหารครบถ้วนในปริมาณที่เพียงพอแก่ความต้องการที่จำเป็นในการดำรงชีวิต โดยตอบสนองต่อความต้องการอาหารและปัจจัยในการดำเนินชีวิตภายในครอบครัวและชุมชนก่อนเป็นเบื้องต้น
  10. เอื้ออำนวยให้เกษตรกรและชุมชนสามารถพัฒนาตนเองได้โดยปราศจากการครอบงำจากภายนอก

รูปแบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืน

กลับสู่ด้านบน

ระบบการทำเกษตรกรรมยั่งยืนที่สำคัญๆ และเป็นที่รู้จักกันทั่วไป รวมถึง

1. ระบบไร่หมุนเวียน

ระบบไร่หมุนเวียนเป็นระบบเกษตรกรรมพื้นบ้านที่ทำกันในหลายวัฒนธรรมในอดีต แต่ปัจจุบันพอจะหลงเหลือให้เห็นได้ในหมู่ชาวปะเกอญอ บนพื้นที่สูงทางภาคเหนือและภาคตะวันตกของประเทศไทย เป็นวิธีการเพาะปลูกพืชในพื้นที่หนึ่งในช่วงเวลาหนึ่ง โดยจะปลูกพืชแบบผสมผสาน ทั้งข้าว ผัก และพืชใช้สอยต่างๆ รวมกันในบริเวณพื้นที่เดียวกัน เมื่อทำการเพาะปลูกไประยะหนึ่งจนดินลดความอุดมสมบูรณ์ลง ก็จะย้ายไปทำการเพาะปลูกในพื้นที่ใหม่ และปล่อยให้ดินในพื้นที่เดิมได้ฟื้นความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ แล้วจึงหมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์ในพื้นที่เดิมนั้นอีกครั้ง จึงเป็นรูปแบบเกษตรกรรมยั่งยืนที่สามารถรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและความอุดมสมบูรณ์ของดินไว้ได้มากที่สุดระบบหนึ่ง แต่ในปัจจุบัน มีการทำไร่หมุนเวียนกันอย่างผิดวิธีจนทำให้ระบบเกษตรกรรมวิธีนี้ถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการทำเกษตรกรรมแบบ ?ไร่เลื่อนลอย? ที่ไปตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำบนที่สูง

ถึงแม้ระบบไร่หมุนเวียนจะต้องมีพื้นที่เพื่อทำการเกษตรหลายแห่งให้หมุนเวียนไปใช้ก็ตาม แต่ถ้าเกษตรกรที่ทำการเกษตรด้วยระบบนี้มีเกณฑ์คุณค่าและวิถีวัฒนธรรมการดำรงชีวิตที่เคารพและนอบน้อมต่อธรรมชาติแล้ว ระบบไร่หมุนเวียนจะเป็นระบบการฟื้นฟูดินเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อการผลิตอาหาร พร้อมไปกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติในเวลาเดียวกัน ระบบไร่หมุนเวียนที่ถูกหลักการจึงจัดเป็นวิธีทำการเกษตรที่อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเคารพธรรมชาติอย่างมากวิธีหนึ่ง และไร่หมุนเวียนที่ทำกันอยู่โดยชุมชนชาวไทยบนภูเขาทางภาคเหนือ ก็ได้พิสูจน์ตัวเองได้ระดับหนึ่ง ว่าสามารถเป็นระบบการเกษตรแบบยั่งยืนได้?”ถ้าดำเนินไปตามภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ถ่ายทอดกันมา”

2. ระบบเกษตรผสมผสาน (Integrated farming)

ระบบเกษตรผสมผสานหมายถึงระบบการเกษตรที่มีการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์หลายชนิดในพื้นที่เดียวกัน โดยที่กิจการรมการผลิตแต่ละชนิดเอื้อประโยชน์กันและกัน และเกื้อกูลกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยอาศัยหลักการอยู่รวมกันระหว่างพืช สัตว์ และสิ่งแวดล้อม การอยู่รวมกันอาจจะอยู่ในรูปความสัมพันธ์ระหว่างพืชกับพืช ?พืชกับสัตว์ หรือสัตว์กับสัตว์ก็ได้ ระบบเกษตรผสมผสานจะประสบผลสำเร็จได้ จะต้องมีการวางรูปแบบ และดำเนินการ โดยให้ความสำคัญต่อกิจกรรมแต่ละชนิดอย่างเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางกายภาพ เศรษฐกิจ สังคม มีการใช้แรงงาน เงินทุน ที่ดิน ปัจจัย การผลิตและทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนรู้จักนำวัสดุเหลือใช้จากการผลิตชนิดหนึ่งมาหมุนเวียนใช้ประโยชน์กับการผลิตอีกชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดภายในไร่นาแบบครบวงจร เน้นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในพื้นที่อย่างเหมาะสมและให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการเพิ่มพูนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีการประสานเกื้อกูลกันระหว่างพืชและสัตว์ เศษซากและผลพลอยได้จากทั้งพืชและสัตว์สามารถเป็นประโยชน์ต่อกิจกรรมของอีกฝ่ายหนึ่งได้ เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าวที่ได้ผลผลิตทั้งข้าวและปลาโดยไม่ต้องใช้สารเคมี การเลี้ยงไก่หรือสุกรบนบ่อปลาทำให้ได้อาหารปลาจากเล้าไก่หรือสุกร หรือการเลี้ยงผึ้งในสวนผลไม้ที่ได้ทั้งน้ำผึ้งและมีผึ้งช่วยผสมเกษรดอกไม้ เป็นต้น นอกจากมีการผสมผสานการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์อย่างหลากหลายแล้ว ยังมีการจัดการผลผลิตการเกษตรที่คำนึงถึงการตลาดด้วย

3. ระบบไร่นาสวนผสม (Mixed/Diversefied/Polyculture Farming)

ระบบไร่นาสวนผสมเป็นระบบเกษตรกรรมที่มีกิจกรรมการผลิตหลายๆ ชนิดเพื่อตอบสนองการบริโภคหรือลดความเสี่ยงจากราคาตลาดของผลผลิตที่มีความไม่แน่นอน โดยไม่มีการจัดการให้กิจกรรมการผลิตเหล่านั้นมีการผสมผสานเกื้อกูลกันเพื่อลดต้นทุนการผลิต ตลอดจนไม่ได้คำนึงถึงสภาพแวดล้อมเหมือนเกษตรผสมผสาน การทำไร่นาสวนผสมในระยะแรกๆ อาจมีการเกื้อกูลกันจากกิจกรรมการผลิตบ้าง แต่กลไกการเกิดขึ้นเป็นแบบ ?เป็นไปเอง? ไม่ได้เกิดจากการตั้งใจจัดการด้วย ?ความรู้ ความเข้าใจ? แต่ในระยะหลังๆ เมื่อเกษตรกรเริ่มมีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น ก็เริ่มมีการวางแผนการใช้พื้นที่และเลือกพืชที่จะปลูกเพื่อหวังผลทางเศรษฐกิจมากขึ้น รวมทั้งเกิดผลพลอยได้ มีจุดขายให้เป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวเชิงนิเวศอีกด้วย

4. ระบบไร่นาป่าผสมหรือวนเกษตร (Agro Forestry)

ระบบไร่นาป่าผสมหรือวนเกษตรเป็นระบบเกษตรกรรมที่นำเอาหลักการความยั่งยืนถาวรภาพของระบบป่าธรรมชาติมาเป็นแนวทางในการทำการเกษตร และมีการจัดองค์ประกอบการผลิตทางการเกษตรให้รวมหลากหลายชนิดของพืชและสัตว์อย่างเหมาะสมและสมดุล คำว่า ?วนเกษตร? มาจากคำว่า??วน? ที่หมายถึง ป่าที่มีความหลากหลายของทรัพยากรที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต และคำว่า ?เกษตร? ที่หมายถึง การใช้ที่ดินในการผลิตพืชหรือสัตว์ เช่นการเพาะปลูกพืช การทำป่าไม้ ประมง ปศุสัตว์ต่างๆ ดังนั้น วนเกษตร จึงหมายถึงการใช้ที่ดินในการผลิตพืช และสัตว์ให้มากชนิด หรือมีความซับซ้อนและหลากหลายทางชีวภาพใกล้เคียงธรรมชาติมากที่สุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เป็นการทำเกษตรร่วมกับการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยมีรากฐานหรือปัจจัยการผลิตที่มาจากท้องถิ่นเอง ทั้งนี้การทำวนเกษตรจะมีลักษณะแตกต่างหรือผันแปรไปตามสภาพท้นที่ รวมถึงทัศนคติ ความเชื้อ วัฒนธรรม ประเพณี และความรู้ ความสามารถในการจัดการของแต่ละท้องถิ่นเอง

ระบบวนเกษตรที่ดีควรสามารถเพิ่มการซึมซับน้ำ รักษาน้ำใต้ดินลดการสูญเสียดิน โดยให้ความสำคัญอย่างสูงกับการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ใช้สอยต่างๆ ให้เป็นองค์ประกอบหลักของพื้นที่ปลูก และผสมผสานกับการปลูกพืชที่ไม่ต้องการแสงแดดมากในชั้นถัดลงมา ซึ่งจะได้อาศัยร่มเงาและความชื้นจากการที่มีพืชชั้นบนขึ้นปกคลุม ลักษณะพันธุ์พืชที่ใช้ควรเป็นทรงพุ่มเพื่อลดความรุนแรงของเม็ดฝนที่ตกกระทบผิวดิน สามารถรักษาสภาพสมดุลของสภาวะแวดล้อมให้เหมาะสมกับพืชที่ปลูกร่วม เช่น บังร่มเงา พายุ ฝน รวมทั้งควบคุมสภาพความชุ่มชื้นและอุณหภูมิ เป็นต้น พันธุ์ไม้ที่ปลูกควรมีรากลึกพอที่สามารถหมุนเวียนธาตุอาหารในระดับที่ลึกขึ้นมาสู่บริเวณผิวดิน เป็นประโยชน์ต่อพืชรากตื้นที่ปลูกร่วม โดยรวมทั้งระบบควรให้ผลตอบแทนแก่เกษตรกรหลายด้าน เช่น ผลผลิตในรูปอาหาร ยารักษา โรค ไม้ฟืน ไม้สร้างบ้านและรายได้ สิ่งสำคัญที่สุดควรเป็นระบบที่อนุรักษ์ดินและน้ำได้ดี ปลูกได้หลายสภาพแวดล้อม และง่ายต่อการปฏิบัติในสภาพของเกษตรกร วนเกษตรที่พอประยุกต์ใช้ในประเทศไทยมีอยู่ 3 ระบบใหญ่ คือ ระบบป่าไม้-ไร่นา ระบบป่าไม้-เลี้ยงสัตว์ และระบบเลี้ยงสัตว์-ไร่นา-ป่าไม้ ซึ่งวีธีการนำแต่ละระบบไปประยุกต์ใช้ย่อมขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของแต่ละพื้นที่เป็นเกณฑ์

ในอดีต นักวิชาการและหน่วยงานด้านป่าไม้เคยใช้คำว่า ?วนเกษตร? ในความหมายของการทำป่าไม้ผสมผสานร่วมกับการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ เป็นการจัดการป่าไม้เป็นหลักร่วมกับการเกษตรทุกแขนง อาจเป็นการปลูกพืชเกษตรในสวนป่า หรือการปลูกพืชเกษตรร่วมกับการเลี้ยงสัตว์ในสวนป่า และถือเป็นทางออกที่ประณีประนอมสำหรับความขัดแย้งระหว่างความต้องการที่ดินเพื่อการเกษตรกรรมและความต้องการป่าไม้เพื่อควบคุมสิ่งแวดล้อม ทำให้วิถีของคนและป่าสามารถดำเนินควบคู่กันไปโดยคำนึงถึงสภาพทางสังคมเศรษฐกิจและวัฒนธรรมประเพณี ?รวมทั้งช่วยพัฒนาความเป็นอยู่ของราษฎรที่เกี่ยวข้อง แต่แนวคิดและการดำเนินการตามรูปแบบดังกล่าวไม่เป็นที่นิยมและแพร่หลายนัก เพราะข้อจำกัดของระบบราชการและกรอบคิดที่พ่วงกับการจัดการป่าไม้แบบตะวันตก มาภายหลังระบบวนเกษตรตามที่เข้าใจกันในปัจจุบันได้เป็นที่รู้จักกว้างขวางในสังคมไทยจากการริเริ่มบุกเบิกแนวคิดโดยผู้ใหญ่วิบูลย์ เข็มเฉลิม เมื่อปลายทศวรรษ 2520 ซึ่งตัดสินใจขายที่ดินส่วนใหญ่เพื่อปลดแอกหนี้สินที่ท่วมตัวจากการทำเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวเพื่อการขาย แล้วแปรสภาพที่ดินที่เหลือไม่ถึง 10 ไร่ ซึ่งเป็นไร่มันสำปะหลังให้เป็นระบบวนเกษตร ปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และพืชสมุนไพรผสมผสานกัน โดยดำเนินชีวิตตามวิถีที่พึ่งพาตัวเองจากผลผลิตในที่ดิน

5. เกษตรธรรมชาติ (Natural farming)

เกษตรธรรมชาติเป็นระบบเกษตรกรรมที่คำนึงถึงระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมเป็นสำคัญ และพยายามเข้าใจกระบวนการทำงานของธรรมชาติอย่างแท้จริง โดยมองว่าธรรมชาติได้จัดทุกสิ่งทุกอย่างไว้อย่างสมดุลดีแล้ว เราจึงควรให้ความสำคัญกับธรรมชาติและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติอย่างเต็มที่โดยรบกวนธรรมชาติให้น้อยที่สุด พร้อมไปกับหาทางอนุรักษ์ธรรมชาตินั้นไว้ให้คงอยู่ตลอดไป

แนวคิดการทำเกษตรธรรมชาติที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย รวมถึงแนวคิดของมาซาโนบุ ฟูกูโอกะ ที่เป็นผู้เขียนหนังสือ ปฏิวัติด้วยฟางเส้นเดียว หรือแนวคิดเกษตรธรรมชาติของโมกิจิ โอกาดะ ผู้ให้กำเนิดกลุ่มเกษตรธรรมชาติเอ็มโอเอ (MOA) และแนวคิดเกษตรธรรมชาติคิวเซ ที่แยกออกมาจากกลุ่มเอ็มโอเอ ตลอดจนแนวคิดเกษตรธรรมชาติเกาหลีของ ฮาน คิว โช เป็นต้น แต่ส่วนใหญ่แนวคิดของเกษตรธรรมชาติจะมีหลักการสำคัญที่คล้ายคลึงกัน คือ การเลียนแบบธรรมชาติของป่าที่สมบูรณ์ และใช้พลังจากสิ่งต่างๆ ในธรรมชาติตามที่เป็น โดยจะรบกวนหรือแทรกแซงการทำงานของธรรมชาติให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น มีการให้ความสำคัญกับดินเป็นอันดับแรก และเน้นการปรับปรุงดินให้มีพลังมำหรับการเพาะปลูก เหมือนดินในป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ตามธรรมชาติ เป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นวิธีการที่ไม่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสภาพแวดล้อม ไม่เป็นอันตรายต่อเกษตรกรและผู้บริโภค สามารถให้ผลผลิตที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพ หรือเป็นระบบเกษตรกรรมที่มีความยั่งยืนมั่นคงในระยะยาว

ในการทำเกษตรกรรมธรรมชาติ จะมีการจัดระบบการปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์ที่สอดประสานกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูลซึ่งกันและกัน งดเว้นกิจกรรมที่ไม่จำเป็นหลักๆ ได้แก่ ไม่มีการพรวนดิน ไม่กำจัดวัชพืช ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีกำจัดศัตรูพืช เป็นปฏิบัติการทางการเกษตรที่คำนึงถึง ดิน พืช และแมลง ไปพร้อมๆ กัน คือ มีการปรับปรุงดินให้มีความอุดมสมบูรณ์ ปลูกพืชตระกูลถั่วหรือใช้เศษซากพืชคลุมดิน ปลูกพืชหลากหลายชนิด และอาศัยการควบคุมโรคแมลงศัตรูพืชด้วยกลไกการควบคุมกันเองของสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ ทำให้มีการอนุรักษ์แมลงที่มีประโยชน์พร้อมไปด้วยกัน จึงเป็นการปลูกพืชในสภาพแวดล้อมที่มีความสมดุลทางนิเวศวิทยา

ปรัชญาและมุมมองของเกษตรธรรมชาติได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับวิธีการทำการเกษตรในปัจจุบันว่าได้ไปไกลเกินขอบเขตธรรมชาติมากน้อยเพียงใด ระบบการทำเกษตรกรรมของมนุษย์ที่มุ่งเน้นการผลิตสินค้าเพื่อตอบสนองต่อระบบตลาด ได้เข้าไปแทรกแซงธรรมชาติมากจนเกินควร เช่น การใช้จุลินทรีย์ต่างถิ่นมาปรับปรุงบำรุงดินเพื่อเพิ่มผลผลิต การนำแมลงต่างถิ่นมาควบคุมแมลงศัตรูพืช และการใส่ปุ๋ยหมักอย่างเกินความจำแป็น เป็นต้น ซึ่งวิธีการเหล่านี้ได้ไปทำลายสมดุลของระบบธรรมชาติ ทั้งที่มีวิธีการทำการเกษตรที่เป็นมิตรและใกล้ชิดกับธรรมชาติมากกว่า แต่ไม่ได้รับการส่งเสริมพัฒนาให้เจริญก้าวหน้าในยุคสมัยที่เกษตรกรรมเป็นเพียงเครื่องมือของระบบตลาดที่ไม่คำนึงถึงผลพวงที่ตามมา ไม่ใช่วิถีการดำเนินชีวิตที่เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ

6. เกษตรทฤษฏีใหม่

ระบบเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นแนวทางการทำการเกษตรแบบพึ่งตนเองที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลฯ ได้พระราชทานให้เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤตเศรษฐกิจฟองสบู่แตก

แนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่เป็นวิธีทำการเกษตรที่ทำได้ง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่และระบบนิเวศโดยรวมของธรรมชาติ มีการหมุนเวียนการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้แก่ ที่ดิน แรงงาน ทุน ปัจจัยการผลิต หรือเศษเหลือใช้จากพื้นที่หนึ่งไปยังอีกพื้นที่หนึ่ง เพื่อให้เกษตรกรมีอาหารที่ผลิตเองไว้บริโภคอย่างพอเพียงตามอัตภาพ พอมีพอกิน ไม่อดอยาก เหมาะสำหรับพื้นที่ขนาดเล็กประมาณ 10-20 ไร่ เน้นให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรเพื่อเลี้ยงตนเองได้แบบค่อยเป็นค่อยไปตามกำลัง ทำกิจกรรมการเกษตรหลายอย่างเพื่อให้มีการใช้ทรัพยากรอย่างเต็มที่ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ของดิน และสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศ สามารถปรับใช้กับพื้นที่ขนาดใหญ่ได้ โดยจะเน้นการจัดการแหล่งน้ำและจัดสรรแบ่งส่วนพื้นที่ทำการเกษตรอย่างเหมาะสม มีการแบ่งพื้นที่ระหว่าง แหล่งน้ำ/นาข้าว/พืชผสมผสาน/โครงสร้างพื้นฐานและที่พักอาศัย ในสัดส่วน 30/30/30/10

วิธีการของเกษตรทฤษฎีใหม่นี้เป็นวิธีการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม และเป็นฐานรากของหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระองค์ท่าน การปลูกป่า 3 อย่างเพื่อประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป่าไม้ใช้สอยที่เป็นไม้โตเร็วสำหรับใช้ในครัวเรือนเพื่อสร้างสิ่งต่างๆ และเป็นพลังงานหรือไม้ฟืน ป่าไม้กินได้พวกไม้ผลและพืชผักต่างๆ ที่เป็นอาหารและสมุนไพรรักษาโรค ป่าไม้เศรษฐกิจหรือไม้ใหญ่ที่ปลูกไว้เพื่อขายเมื่อโต ซึ่งให้ประโยชน์ พออยู่ พอกิน พอใช้ และพอร่มเย็น หรือเป็นประโยชน์ต่อระบบนิเวศและช่วยอนุรักษ์ดินและน้ำ? การปลูกพืชที่หลากหลายอย่างเป็นระบบจะช่วยสร้างสมดุลของระบบนิเวศในบริเวณพื้นที่เพาะปลูก? ช่วยปกป้องผิวดินให้ชุ่มชื้น ดูดซับน้ำฝน และค่อยๆ ปลดปล่อยความชื้นให้กับพืชและบริเวณโดยรอบ สร้างความสมบูรณ์และก่อให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพภายในบริเวณพื้นที่ป่าปลูก และหากทำทั้งหมดนี้จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความเป็นอยู่ที่ยากจนของเกษตรกร ที่จะส่งผลเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม หากสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาตนเองได้แม้เพียงหนึ่งในสี่ของระบบเศรษฐกิจทั้งหมด ก็จะสามารถทำให้ประเทศชาติมีความมั่นคงมากกว่าระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพาภาคอุตสาหกรรมและการส่งออกอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน3

ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่าแนวทางเกษตรทฤษฏีใหม่เป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่ให้ความสำคัญกับการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการอาหารในครัวเรือน และทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งปัจจัยการผลิตจากภายนอก ดังนั้น การส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฏีใหม่ที่ดำเนินพร้อมไปกับการส่งเสริมการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีการเกษตร หรือนำทฤษฏีใหม่ไปใช้แค่เพียงรูปแบบโดยไม่เข้าใจเนื้อหาและปรัชญาที่อยู่เบื้องหลังเกษตรทฤษฏีใหม่นี้ จะนำไปสู่แนวทางการดำเนินงานที่ไม่จัดเป็นเกษตรกรรมยั่งยืนตามความหมายและหลักการที่วางไว้

7. เกษตรกรรมประณีต

เกษตรกรรมประณีตเป็นรูปแบบเกษตรกรรมทางรอดที่เกิดจากการการระดมความคิดของปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสาน 12 ท่าน4 ร่วมกับนักวิจัยระดับชาวบ้านท่านอื่นๆ เพื่อตอบคำถามว่าต้องมีพื้นที่เท่าไรจึงจะทำเกษตรกรรมเลี้ยงชีวิตได้อย่างพออยู่พอกิน สามารถเลี้ยงตนเองและคนในครอบครัวได้??และต้องจัดการพื้นที่อย่างไรให้สามารถเลี้ยงตัวเองและปลดภาระหนี้ที่มีอยู่ได้? คำตอบที่ได้จากการระดมสมอง คือ มีพื้นที่ 1 ไร่ก็สามารถจะอยู่ได้อย่างพอเพียง? การทำเกษตรประณีตจึงเป็นการใช้ประโยชน์จากที่ดิน 1 ไร่ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ปัญหาให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น?พอมีพอกิน?ปลดภาระหนี้สิน?ปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเป็นบำนาญชีวิตโดยมีหลักการสำคัญได้แก่ การออมน้ำ?ออมดิน?ออมต้นไม้?ออมสัตว์?ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการทำเกษตรในพื้นที่ 1 ไร่อย่างมีความยั่งยืนและเกิดการเชื่อมโยงเป็นระบบนิเวศที่เกื้อกูล? นอกจากนี้ ยังต้องมีอิทธิบาท 4 เป็นปัจจัยพื้นฐานด้านจิตใจที่สำคัญยิ่งอีกด้วย คือ ต้องมีฉันทะ หรือความพอใจรักในการทำการเกษตรกรรม ต้องมีวิริยะ หรือความพากเพียรในการทำงานตามแผน?ซึ่งรวมถึงแรงงาน?การลงทุนแหล่งน้ำ?การปรับปรุงดิน?การจัดหาพันธุ์พืชเพื่อปลูก?การจัดหาพันธุ์สัตว์เพื่อเลี้ยง และการใช้คืนทุนที่เป็นเงินยืมมาช่วยเสริม ต้องมีจิตตะ หรือความตั้งใจใส่ใจในงานที่ทำด้วยศรัทธา ใฝ่ศึกษาสังเกตุเรียนรู้เพื่อพัฒนาปรับปรุงสิ่งที่ทำอยู่ให้มีปริทธิภาพและเกิดประสิทธิผลเพิ่มขึ้น และสุดท้าย ต้องมีวิมังสา หรือรู้จักตรวจสอบประเมินผลโดยใช้ปัญญา สำหรับการพิจารณาว่าจะปลูกอะไรหรือเลี้ยงอะไรในพื้นที่ 1 ไร่นั้น ความแตกต่างของพื้นที่จะเป็นตัวกำหนดพืชและสัตว์ที่มีความเหมาะสม?รวมทั้งความชอบของผู้ปลูกด้วย

การทำเกษตรประณีตเพื่อการพึ่งพาตนเองและปลดหนี้ จะแบ่งออกเป็นส่วนที่ทำเพื่อบริโภคเอง?และส่วนที่ทำเพื่อจำหน่ายทั้งระยะสั้นและระยะยาว? พื้นที่เกษตรประณีตจะมีการปลูกผักไว้กินเองและเพื่อขาย?โดยมากราคาผักจะไม่สูง?จำหน่ายเป็นช่วงๆ ตามฤดูกาล?ใช้ระยะเวลาสั้น? ส่วนการเลี้ยงสัตว์มีทั้งในส่วนบริโภคเองและจำหน่ายเช่นกัน?เช่น ไก่เนื้อ ไก่ไข่ หมู วัว? ซึ่งจะช่วยให้ออมเงินได้มากกว่าการขายผักเพียงอย่างเดียว? นอกจากนี้ยังมีไม้ยืนต้นที่ให้ผลผลิตต่อเนื่องและในระยะยาวและสามารถนำมาแปรรูปได้? สิ่งเหล่านี้จะสร้างรายได้?ช่วยปลดหนี้อย่างค่อยเป็นค่อยไป? และลดหรือเลิกรายจ่ายที่ไม่จำ? สิ่งที่สำคัญคือ ต้องทำหลายอย่างในพื้นที่ 1 ไร่?ไม่ทำเชิงเดี่ยว?ทำปุ๋ยใช้เอง?ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีหรือสารเคมี?ใช้วิธีธรรมชาติในการไล่แมลง?เก็บเมล็ดพันธุ์เอง ไม่ซื้อ ฯลฯ? ผสมผสานความรู้ในการทำเกษตรกรรม 1 ไร่? ออกแบบผังการวางกิจกรรมต่างๆ ให้สอดคล้องและมีการเกื้อกูลกันในระบบ?ซึ่งรูปแบบจะไม่ตายตัว แต่จะอิงหลักการออมข้างต้น?และพัฒนาเทคนิคความรู้กิจกรรมการเกษตรในพื้นที่อยู่ตลอด? ต้องมีหลักคิดในการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน?ลดรายจ่าย?สร้างปัจจัยการดำรงชีวิตในพื้นที่ของตนเองให้ได้? เพื่อลดการพึ่งพิงจากปัจจัยภายนอกที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายหรือส่งผลให้กลับไปสร้างหนี้

8. เกษตรอินทรีย์ (Organic farming)

เกษตรอินทรีย์เป็นระบบการเกษตรที่ผลิตอาหารด้วยความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเน้นหลักการปรับปรุงบำรุงดิน เคารพต่อศักยภาพทางธรรมชาติของพืช สัตว์ และระบบนิเวศ ลดการใช้ปัจจัยการผลิตจากภายนอก และไม่ใช้สารเคมีเพื่อการเกษตร ทั้งปุ๋ยเคมี ยากำจัดวัชพืชและศัตรูพืช รวมทั้งฮอร์โมนสังเคราะห์ที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของพืชและสัตว์ ตลอดจนสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุ์กรรม ในขณะเดียวกันก็พยายามประยุกต์ใช้ธรรมชาติเพื่อช่วยเพิ่มผลผลิตและพัฒนาความต้านทานศัตรูพืช เกษตรอินทรีย์ให้ความสำคัญสูงสุดในการปรับปรุงดิน โดยเชื่อว่าดินที่สมบูรณ์ย่อมทำให้พืชและสัตว์ที่เจริญเติบโตจากผืนดินนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ตามไปด้วย ผู้บริโภคผลผลิตเกษตรอินทรีย์ก็จะได้รับอาหารที่มีคุณภาพดีและปลอดภัย วิธีการปรับปรุงบำรุงดินจะมีทั้งการใช้ปุ๋ยพืชสด ปลูกพืชหมุนเวียน ใช้ประโยชน์จากเศษซากพืชและมูลสัตว์ทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยชีวภาพ ตลอดจนใช้ธาตุอาหารเสริมจากหินแร่ต่างๆ มีการควบคุมศัตรูพืชโดยวิธีชีวภาพหรือใช้สารสกัดจากพืชที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ หรือไม่มีผลกระทบต่อตัวห่ำตัวเบียนที่เป็นประโยชน์ ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีการตัดแต่งพันธุ์กรรม และมีการป้องกันการปนเปื้อนจากสารเคมี

เมื่อปี 2551 เจ้าหน้าที่ขององค์การอาหารโลกแห่งองค์การสหประชาชาติ (FAO) ได้กล่าวไว้ว่า ?เกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืนเป็นระบบการบริหารจัดการการผลิตแบบองค์รวม ที่หลีกเลี่ยงการใช้ปุ๋ยเคมีและสารกำจัดศัตรูพืช สิ่งมีชีวิตที่มีการตัดแต่งพันธุ์กรรม (จีเอ็มโอ) ลดการสร้างมลพิษในอากาศ ดิน และแหล่งน้ำ ตลอดจนเพิ่มความแข็งแรงของสุขภาพให้กับพืช สัตว์ และมนุษย์? ประโยชน์ของการทำเกษตรกรรมวิธีนี้อย่างเต็มรูป คือ การลดการพึ่งพาพลังงานที่ใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยและมีต้นทุนต่ำ5 เกษตรอินทรีย์เต็มรูปจึงถือเป็นก้าวแรกของการทำเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืน

ในปัจุบัน ระบบเกษตรอินทรีย์ได้แพร่หลายเป็นที่รู้จักกันทั่วโลก และกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบผลิตทางการเกษตรที่มีการพัฒนาระบบตลาด และมาตรฐานการผลิตที่มีการรับรองเป็นการเฉพาะและหลากหลายลักษณะ สำหรับประเทศไทย การบุกเบิ่กพัฒนาและเผยแพร่ระบบเกษตรกรรมอินทรีย์และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ เริ่มจากการผลักดันขององค์กรพัฒนาเอกชนเป็นส่วนใหญ่ โดยร่วมมือกับกลุ่มเกษตรกรในหลายจังหวัด จนสามารถพัฒนาการตลาดอินทรีย์ให้ขยายไปทั้งในและต่างประเทศ ทำให้เป็นที่สนใจของพรรคการเมืองจนถูกนำไปใช้เป็นนโยบายในการหาเสียง และในที่สุดนโยบายเกษตรกรรมอินทรีย์ได้ถูกบรรจุไว้เป็นวาระแห่งชาติในยุคของรัฐบาลทักษิณ 1 แต่หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งยังไม่เข้าใจหลักการและเนื้อหาของระบบเกษตรอินทรีย์ อีกทั้งขาดความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ทำให้การพัฒนาเกษตรกรรมอินทรีย์ในฐานะนโยบายระดับประเทศของไทยยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ความสนใจพัฒนาเกษตรกรรมอินทรีย์โดยเอาตลาดเป็นตัวนำ มุ่งเน้นการผลิตพืชเชิงเดี่ยวในพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อการค้าอุตสาหกรรมและ/หรือการส่งออกเป็นหลัก พึ่งพาเครื่องจักรการเกษตรแทนแรงงานคน และอยู่ภายใต้ระบบและการควบคุมของบริษัทขนาดใหญ่ แทนที่จะมุ่งเพื่อความมั่นคงด้านอาหารอย่างยั่งยืน ถือเป็นเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งให้ผลที่แตกต่างอย่างมากกับวิธีการทำเกษตรอินทรีย์แบบยั่งยืน ที่คำนึงถึงความสมดุลขององค์ประกอบทั้งหมดในกระบวนการผลิตแบบองค์รวม เพื่อความยั่งยืนทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม สุขภาพ และเศรษฐกิจ การนำรูปแบบวิธีการเกษตรอินทรีย์ไปใช้เพียงบางส่วนเพื่อให้ได้ชื่อว่าเป็นเกษตรกรรมอินทรีย์ และผ่านระบบการรับรองมาตรฐานการผลิตเพื่อผลด้านการตลาด อาจเป็นการทำลายหลักการและเป้าหมายที่แท้จริงของระบบเกษตรกรรมอินทรีย์ในบั้นปลาย เพราะการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ลักษณะดังกล่าวไม่ถือเป็นเกษตรกรรมอินทรีย์ที่แท้จริง และผิดหลักการของเกษตรกรรมยั่งยืนโดยสิ้นเชิง

9. เกษตรกรรมที่เป็นมากกว่าเกษตรอินทรีย์ (Beyond Organic farming)

เกษตรกรรมที่เป็นมากกว่าเกษตรอินทรีย์ มักหมายถึงการทำเกษตรอินทรีย์เต็มรูปที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพของผลผลิตมากกว่าเกษตรอินทรีย์ทั่วไป หรือเน้นจำนวนชนิดและปริมาณของสารอาหารธรรมชาติที่เป็นประโยชน์กับร่างกายในผลผลิต

เนื่องจากระบบการรับรองเกษตรอินทรีย์ในปัจจุบัน เป็นการรับรองมาตรฐานของกระบวนการผลิตเท่านั้น ไม่ได้รับรองมาตรฐานคุณภาพของผลิต เพราะเมื่อ 30 ปีก่อนตอนที่มีการกำหนดมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ยังไม่มีวิธีการและเทคโนโลยีที่จะสามารถตรวจวัดคุณภาพของผลผลิตได้ ดังนั้นเพื่อป้องกันผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์และผู้ขายใช้การรับรองมาตรฐานผลผลิตอินทรีย์เป็นเครื่องมือการตลาด โฆษณาคุณสมบัติของสินค้าอินทรีย์เกินความเป็นจริง ทำให้ผู้บริโภคที่ไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงเกิดความเข้าใจที่ผิด หน่วยงานรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้วโลกจึงได้ตกลงกำหนดเป็นข้อห้าม ไม่ให้ผู้ที่ได้รับการรับรองเกษตรอินทรีย์อ้างข้อมูลด้านคุณภาพของผลผลิตเพื่อผลด้านการตลาดหรือการขายสินค้า

แต่เมื่อเวลาผ่านไป จนถึงปัจจุบันที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้พัฒนาไปไกลกว่าเมื่อ 30 ปีก่อนมาก วิทยาศาสตร์ได้หันมาสนใจเรื่องคุณภาพของผลผลิตการเกษตรที่อาหาร เพราะปัญหาด้านสุขภาพได้กลายเป็นปัญหาวิกฤตของสังคม จึงมีการคิดหาวิธีการและเทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อนในการตรวจวัดคุณภาพของผลผลิตการเกษตร ทำให้สามารถกลับไปปรับปรุงระบบและวิธีการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพและรักษาระดับคุณภาพของผลผลิตอินทรีย์ให้สม่ำเสมอต่อเนื่องได้ จึงเป็นที่มาของระบบเกษตรกรรมที่เป็นมากกว่าเกษตรอินทรีย์ ในปัจจุบันยังไม่มีระบบการรับรองมาตรฐานด้านคุณภาพผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แต่มีหลายหน่วยงานที่กำลังพยายามริเริ่มทำมาตรฐานด้านคุณภาพสำหรับผลผลิตการเกษตรแต่ละชนิด6

ถึงแม้โดยทั่วไป ผลผลิตจากระบบเกษตรอินทรีย์ที่แท้จริงจะมีปริมาณสารอาหารที่มากกว่าผลผลิตเกษตรเคมีก็ตาม แต่เมื่อคำว่า ?เกษตรอินทรีย์? เริ่มถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการตลาด การทำเกษตรอินทรีย์ โดยเฉพาะของบริษัทการเกษตรอุตสาหกรรม จึงเริ่มเปลี่ยนวิธีการผลิตจากการใช้สารเคมีมาใช้สารสกัดจากอินทรีย์วัตถุแทน โดยไม่มีการเปลี่ยนวิธีคิดและระบบการทำเกษตรอินทรีย์อย่างเป็นระบบที่ครบวงจร หรือเป็นระบบเกษตรอินทรีย์เต็มรูป ทำให้มีผลกับคุณภาพผลผลิตด้วย ในปัจจุบัน มีระบบวิธีการเกษตรอินทรีย์เต็มรูปและเกษตรธรรมชาติเข้มข้นที่คำนึงถึงคุณภาพผลผลิตเป็นสำคัญ พอจัดรวมเป็นระบบเกษตรกรรมที่เป็นมากกว่าเกษตรอินทรีย์ทั่วไปได้ เช่น เกษตรชีวพลวัต (Bio-Dynamic) เกษตรชีวภาพเข้มข้น (Bio-Intensive) เกษตรอินทรีย์พลังชีวภาพ (Bio-Energetic) เกษตรสารอาหารเข้มข้น (Nutrient Dense Farming) และเกษตรธรรมชาติแบบเอ็มโอเอ เป็นต้น

สรุป

กลับสู่ด้านบน

โดยสรุป ระบบเกษตรกรรมที่ยั่งยืนควรจะสามารถ

  • ให้ผลผลิตที่มีคุณค่าสารอาหารด้านโภชนาครบถ้วน และสามารถสร้างรายได้ในระดับที่เพีให้ผลผลิตหลากหลายชนิด เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงด้านอาหาร
  • ยังพอต่อการดำรงชีวิตให้กับเกษตรกร
  • ใช้พื้นที่เพื่อการเพาะปลูกน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ใช้ประโยชน์จากความมีประสิทธิภาพของระบบการผลิตในที่ดินแปลงเล็กหรือของเกษตรกรรายย่อย
  • ใช้เมล็ดพันธุ์ที่ได้จากการผสมเกษรตามธรรมชาติ (open pollination) เพื่อให้ความเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์กลับมาอยู่ในมือของเกษตรกรและชุมชน และส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์พื้นเมืองเพื่อความเหมาะสมกับท้องถิ่นที่เพาะปลูก
  • ใช้เครื่องมือการเกษตรที่อาศัยแรงงานคนเป็นหลัก ไม่มีความซับซ้อน เพื่อลดต้นทุนด้านเศรษฐกิจและลดการใช้ต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรในดิน
  • ปรับเข้าได้กับวัฒนธรรมการผลิตของท้องถิ่น และสามารถตกทอดสู่รุ่นลูกหลานต่อไปได้
  • เป็นวิธีที่ทำได้โดยเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินแปลงเล็ก ขนาดราว 10 ไร่ ไม่ว่าเกษตรกรผู้ผลิตจะมีฐานะทางเศรษฐกิจระดับใดก็ตาม
  • วิธีการทำเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ไม่ควรจะ:
  • พึ่งพาเครื่องจักรการเกษตรขนาดใหญ่
  • พึ่งพิงการใช้ปุ๋ยหรือใส่สิ่งเพิ่มเติมจำนวนมากลงในดิน (รวมทั้งปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมัก) ที่ไม่สามารถผลิตได้เองจากในพื้นที่ที่ทำการเกษตร
  • ต้องใช้ทรัพยากรหรือผลผลิตจากทรัพยากรที่ไม่สามารถหามาทดแทนได้ เช่น น้ำมันปิโตรเลียม
  • ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่เพื่อเกษตรกร ชุมชนท้องถิ่น และชุมชนโลก ต้องลดน้อยถอยลง แต่ในทางกลับกันทำให้มีเพิ่มขึ้น รวมทั้งมีความอุดมสมบูรณ์มากขึ้นเท่าที่จะทำได้7

?ความมั่นคงด้านอาหารของโลกขึ้นอยู่กับการ ?กลับสู่พื้นฐาน? เพื่อสนับสนุนเกษตรกรรมนยชนบท… …การทำการเกษตรและการผลิตที่ฉลาดขึ้น จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของทางแก้ปัญหา?

เฮเลน คลาร์ก ? ผู้อำนวยการบริหาร UNDP

รวบรวมและเรียบเรียง – ทัศนีย์ เศรษฐ์บุญสร้าง
tatsanee@NawaChiOne.org
? สงวนลิขสิทธิ์
อนุญาตให้ใช้เพื่อการศึกษาที่ไม่เป็นธุรกิจ แต่ขอให้อ้างอิงแหล่งที่มาด้วย

กลับสู่ด้านบน

————————————————————————————————

เชิงอรรถ

1คณะทำงานวิชาการ สมัชชาเกษตรกรรมยั่งยืนครั้งที่ 3, เกษตรกรรมยั่งยืน: วิถีเกษตรกรรมเพื่อความเป็นไท ความเรียงว่าด้วยความเหมาย หลักการ และนโยบายเกษตรกรรมยั่งยืน, มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย), 2547
2Ibid.
3สุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง การเรียนรู้ร่วมกันแบบมีเข็มมุ่งสู่วิถีเศรษฐกิจพอเพียง บริษัท ฟ้าอภัย จำกัด 2551
4ปราชญ์ชาวบ้านภาคอีสานทั้ง 12 ท่าน ได้แก่ 1) พ่อคำเดื่อง ภาษี? 2) พ่อผาย สร้อยสระกลาง? 3) พ่อสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ 4) พ่อมหาอยู่ สุนทรชัย? 5) พ่อชาลี มาระแสง 6) พ่อเชียง ไทยดี?7) พ่อทัศน์ กระยอม?8) พ่อผอง เกตพิบูลย์?9) พ่อบุญเต็ม ชัยลา 10) พ่อจันทร์ที ประทุมภา? 11) พ่อสนั่น ปริสาวงศ์? และ 12) พ่อทองใบ ต้นโลห์
5ISIS Report: FAO Promotes Organic Agriculture.
www.i-sis.org.uk/FAOPromotesOrganicAgriculture.php
6 Bionutrient Food Association, 2011 Orgnaizational Plan + Proposal: Remineralize the Earth, USA. (2011).
7 Perspectives from Ecology Action, Biointensive Agriculture: A Greener Revolution, Willits CA, 2010.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *