ณ เวลาบ่ายห้าโมงเย็น (หรือเวลา 17.00 น.ของชีวิตวัยห้าสิบเก้าปีครึ่ง)

– ชีวิตที่เดินมาถึงวัยใกล้เกษียณอายุราชการนี้น่าจะได้ผ่านประสบการณ์ต่างๆพอสมควร และมองประเด็นปัญหาทั้งหลายอย่างมีวุฒิภาวะทั้งในมิติเชิงลึกและในมิติเชิงกว้างรอบด้านมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาผู้สูงอายุที่ยังไม่ปล่อยมือจากอำนาจทางการเมือง และมีส่วนร่วมอยู่ใน?วงจรเลวร้าย? (vicious circle) ทางการเมืองสองวงจร ของการ ?รัฐประหาร ? ยกร่างรัฐธรรมนูญ ? เลือกตั้ง ? รัฐประหาร …? กับ ?นักการเมืองซื้อเสียง ? มีอำนาจ ? โกงกิน ? ซื้อเสียง …? ที่แฝงอยู่ในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยมานานถึงเกือบหนึ่งศตวรรษ แล้วช่วยกันหาทางออกจากปัญหาด้วย ?ระดับความคิดใหม่? ที่ไม่ใช่การ ?พายเรือในอ่าง? อยู่ภายใต้กรอบความคิดเดิมๆที่นำไปสู่วงจรเลวร้ายแห่งปัญหาดังกล่าว

– ในอดีตเมื่อแรงบีบคั้นจากความกลัวในลำดับขั้นที่ 4 และ 5 ทำให้มนุษย์เกิดความเชื่อในลัทธิทางศาสนาแบบเทวนิยมต่างๆ ก็มีแนวโน้มที่ผู้ปกครองบ้านเมืองจะอาศัยความเชื่อทางศาสนาแบบนี้มาเสริมสร้างเป็น ?ศาสนาของรัฐ? หรือ ?ศาสนาของพลเมือง? (Civic Religion) เพื่ออธิบายความชอบธรรมของอำนาจรัฐโดยเชื่อมโยงกับความเชื่อในทางศาสนา จนเกิดเป็น ?ลัทธิเทวสิทธิ์? (Divine Right) ขึ้น ด้วยการอธิบายว่าผู้ปกครองบ้านเมืองเป็นเทพ เป็นอวตารของเทพ หรือเป็นบุคคลที่ได้รับอาณัติจากพระเจ้าบนสวรรค์ให้มาปกครองมนุษย์บนพื้นพิภพนี้ ฯลฯ อันทำให้ผู้คนยอมรับ ?ความชอบธรรม? ของโครงสร้างความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นผู้ปกครอง (ที่เป็นเทพ) กับชนชั้นผู้ถูกปกครอง (ซึ่งเป็นมนุษย์) ขณะเดียวกันเมื่อบุตรของเทพย่อมมีสายโลหิตแห่งความเป็นเทพติดตัว จึงทำให้เกิดระเบียบแบบแผนของการสืบทอดอำนาจทางการเมืองผ่านทางสายโลหิต

– อย่างไรก็ตามเมื่อความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูกพัฒนาจนไปสั่นคลอนความเชื่อทางศาสนาแบบเทวนิยมที่พิสูจน์ไม่ได้ด้วยวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ความชอบธรรมของอำนาจทางการเมืองในลัทธิเทวสิทธิ์ก็เกิดความสั่นคลอนตามไปด้วย และมีนักคิดที่พยายามอธิบาย ?ความชอบธรรม? ของอำนาจรัฐโดยไม่อิงกับความเชื่อทางศาสนาแบบเดิม จนเกิด ?ทฤษฎีสัญญาประชาคม? (Social Contract Theory) อันเป็นรากฐานของลัทธิการเมืองแบบ ?ประชาธิปไตย? ขึ้นในโลก

– ทฤษฎีสัญญาประชาคมตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับแก่นสารคุณค่า (Virtue) อย่างหนึ่งอันคือ ?สิทธิเสรีภาพ? ที่มีอยู่ในทุกคน แต่ความจำเป็นที่มนุษย์ต้องมาอยู่รวมกันเป็นระบบสังคมเพื่อช่วยกันต่อสู้กับภัยคุกคามต่างๆ ทำให้มนุษย์หันมาทำข้อตกลงร่วมกันเป็น ?สัญญาประชาคม? (Social Contract) ว่า ทุกคนจะยินยอมสละสิทธิเสรีภาพส่วนตัวจำนวนหนึ่งเพื่อสถาปนา ?อำนาจที่เป็นทางการ? ของสังคมขึ้น สำหรับเป็นเครื่องมือช่วยปกป้อง ?สิทธิเสรีภาพส่วนใหญ่? (ที่เหลือ) ของผู้คน เช่นทุกคนยินยอมสละ ?สิทธิ?ในทรัพย์สินที่หามาได้ส่วนหนึ่ง เป็นเงินภาษีให้รัฐนำไปจ้างตำรวจและทหารมาช่วยปกป้องสิทธิเสรีภาพในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เพื่อไม่ให้ถูกปล้นชิงทั้งจากโจรผู้ร้ายหรือชนชาติอื่นที่มารุกราน เป็นต้น

– เมื่อ ?ความชอบธรรม? ของอำนาจรัฐเกิดเนื่องมาจากประชาชนที่มาร่วมกันทำข้อตกลงสถาปนาอำนาจรัฐขึ้น รัฐก็มีความจำเป็นตามตรรกะที่จะต้องใช้อำนาจนั้นปฏิบัติต่อประชาชนทุกคนอย่าง ?เสมอภาคเท่าเทียม? ภายใต้กฎหมายต่างๆที่เกิดจากพันธะแห่งสัญญาประชาคมดังกล่าว แต่สัญญาใดๆย่อมอาจถูกฉีกทิ้งได้เสมอถ้าผู้ร่วมทำสัญญาต่างจ้องหาช่องเอาเปรียบหักหลังกัน โดยสัญญานั้นจะมีความมั่นคงก็ต่อเมื่อผู้ร่วมทำสัญญาต่างมีความรู้สึกนึกคิดว่าเป็น ?พวกเดียวกัน? (หรือมีความเป็น ?ภราดรภาพ? ) จนมีความจริงใจที่จะช่วยเหลือกันตามกรอบพันธะสัญญานั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ?สิทธิเสรีภาพ? (Liberty) ?ความเสมอภาค? (Equality) และ ?ความเป็นภราดรภาพ? (Fraternity) จึงกลายเป็น ?เงื่อนไขจำเป็น? (necessary condition) สามเสาหลักของประชาธิปไตย

– อริสโตเติ้ลนักปรัชญาชาวกรีกที่ถือเป็นบิดาของวิชารัฐศาสตร์ เรียกองค์ความรู้ทางด้านรัฐศาสตร์ว่า ?ศาสตร์สถาปัตยกรรมรัฐ? (Architectonic Science) โดยเปรียบเทียบระบอบการเมืองกับสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้าง ที่ต้องออกแบบโครงสร้างแต่ละส่วนเพื่อให้สามารถรองรับน้ำหนักและมีการถ่วงดุลกันอย่างเหมาะสม อาคารสิ่งก่อสร้างนั้นๆถึงจะมีความมั่นคงแข็งแรง มองในแง่นี้หลัก ?สิทธิเสรีภาพและความเสมอภาค? ก็จัดเป็น ?โครงสร้างส่วนบน? (เหมือนโครงสร้างอาคารส่วนที่อยู่เหนือพื้นดินซึ่งมองเห็นได้ชัด) ขณะที่หลัก ?ภราดรภาพ? จะเป็น ?โครงสร้างส่วนลึก? (เหมือนโครงสร้างอาคารส่วนที่อยู่ใต้ดินซึ่งมองเห็นยาก) ของการเมืองในระบอบประชาธิปไตย

ad

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *