ณ เวลาแปดโมงเช้า (หรือ 8 นาฬิกาของชีวิตวัยยี่สิบแปดปี)

– ช่วงเวลาแปดโมงเช้าสำหรับหลายคนคือเวลาที่ต้องมาถึงที่ทำงานและตอกบัตรเริ่มต้นทำงานในวันใหม่ อันคือการเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวที่มีการงานมั่นคงและแต่งงานมีครอบครัว?? แปดโมงเช้าของนาฬิกาแห่งชีวิตจึงเป็นหลักบอกเวลาสำคัญอีกจุดหนึ่ง ในการเปลี่ยนผ่านจากชีวิตวัยหนุ่มสาวสู่ความเป็นผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะและการเริ่มต้นสร้างครอบครัว
08

– หลายชีวิตกำลังอยู่ในช่วงแสวงหาสิ่งตอบสนองความต้องการสองลำดับแรกตามทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้นของมาสโลว์ ซึ่งก็คือการแสวงหาความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ เพราะถ้ามีเงินก็สามารถซื้อหาแลกเปลี่ยนปัจจัยที่จำเป็นต่างๆต่อการดำรงชีวิต และถ้าหากมีเงินเก็บสะสมมากพอ ก็ย่อมจะเป็นหลักประกันที่มั่นคงของครอบครัว เงินจึงกลายเป็นสิ่งสำคัญขั้นพื้นฐานที่แทบทุกชีวิตต้องการไขว่คว้าแสวงหา

– แต่คำถามก็คือเราควรจะตั้งเป้าทำงานเก็บสะสมเงินมากเท่าไรจึงจักเพียงพอต่อการสร้างความมั่นคงของชีวิต บางคนตั้งเป้าหมายว่าถ้ามีเงินซื้อบ้าน ซื้ออุปกรณ์อำนวยความสะดวกสบายต่างๆภายในบ้าน รวมถึงมีเงินเก็บสักก้อนสำหรับไว้ใช้ในยามแก่ชรา อาจจะแค่สักหนึ่งล้านบาทตามศักยภาพที่น่าจะพอหาได้ก็คง ?เพียงพอ? แต่ครั้นหาเงินเก็บได้หนึ่งล้านบาทตามเป้า ความกลัวว่าเงินหนึ่งล้านบาทอาจถูกใช้หมดไปได้ในวันใดวันหนึ่งข้างหน้า ส่งผลทำให้ความต้องการหลักประกันที่มั่นคงในชีวิตขยายตัวเพิ่ม แปรผันตามปริมาณ ?ความกลัว? ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว

– ซึ่งวิธีที่ดีสำหรับการเก็บรักษาเงินหนึ่งล้านบาทนั้นให้มั่นคงยืนนานเพื่อเป็นหลักประกันความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต ก็คือเอาเงินหนึ่งล้านบาทดังกล่าวฝากธนาคารในบัญชีประจำ แล้วหาเงินใหม่อีกหนึ่งล้านบาทสำหรับไว้ใช้สอย แต่พอหาเงินมาได้สองล้านบาทตามเป้า ความกลัวว่าหลักประกันความมั่นคงของชีวิตจากการมีเงินสองล้านบาทย่อมอาจหมดสูญไปได้เช่นกัน และวิธีที่ดีที่สุดสำหรับการสร้างหลักประกันความมั่นคงของชีวิตในระดับดังกล่าวให้ยืนนานก็คือ เก็บเงินสองล้านบาทนั้นฝากธนาคาร หรือลงทุนซื้อทรัพย์สินที่มีความมั่นคงปลอดภัยไม่มีความเสี่ยงเพื่อเก็บไว้ แล้วหาเงินก้อนใหม่อีกสองล้านบาทสำหรับไว้ใช้สอย แต่เมื่อหาเงินมาได้สี่ล้านบาทตามเป้าหมาย ความกลัวก็ขยายเพิ่มเป็นเงาตามตัวเท่ากับปริมาณเงินสี่ล้านบาทที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว แล้วบีบคั้นให้คนผู้นั้นต้องหาเงินเพิ่มมากขึ้นๆต่อไปอีกอย่างไม่มีขอบเขตที่สิ้นสุด

– จึงไม่น่าแปลกใจที่เราจะเห็นมหาเศรษฐีบางคนซึ่งถึงแม้มีเงินเก็บสะสมนับพันนับหมื่นล้านบาทแล้วก็ยังคงขี้เหนียว สละเงินออกไปส่วนหนึ่งก็หวังผลตอบแทนกลับคืนมากยิ่งกว่าไม่ว่าจะโดยทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อให้มีเงินส่วนเกินเหลือสะสมเพิ่มมากยิ่งๆขึ้นอีก เพราะติดอยู่ในกับดักของความกลัวที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆด้วยกลไกตามที่กล่าวมาข้างต้น ชีวิตของคนเหล่านี้จะไม่สามารถยกระดับสู่การแสวงหาสิ่งตอบสนองความต้องการในลำดับขั้นที่สูงขึ้นถึงขั้นที่ 5 ตามทฤษฎีความต้องการตามลำดับขั้น 5 ขั้นดังที่กล่าวมาได้ เนื่องจากยังคงจมปลักอยู่กับการแสวงหาสิ่งตอบสนองความต้องการในลำดับขั้นต้นๆเท่านั้น

– ถ้าต่อให้เศรษฐีคนนั้นมีอายุยืนยาวอีกสัก 30 ปี และใช้เงินซื้อหาความสุขสบายอย่างฟุ่มเฟือยวันละ 100,000 บาททุกๆวัน ก็จะใช้เงินปีละ 365 วัน x 100,000 บาท = 36.5 ล้านบาท รวม 30 ปี = 1,095 ล้านบาท แต่กระนั้นเศรษฐีหลายคนก็รู้สึกว่าตนเองยังขาดพร่องอะไรบางอย่างเพราะถูกบีบคั้นด้วยความกลัวอยู่ลึกๆตลอดเวลา อันทำให้ต้องหาเงินเพิ่มขึ้นๆเป็นหลายพันหลายหมื่นล้านบาท ด้วยความรู้สึกนึกคิดว่า ?เงินคืออำนาจ? ที่อาจช่วยบรรเทาความกลัวดังกล่าวนั้นได้ ?แต่ครั้นหาเงินมาได้มากเท่าไร ?ความกลัวต่อการสูญเสียอำนาจ? (เพื่อบรรเทาความกลัวอันเกิดจากการมีอำนาจ) ก็กลับขยายเพิ่มขึ้นตาม เหมือนการวิ่งไล่ไขว่คว้าเงาตัวเองที่ไม่มีวันไปถึงเป้าหมาย

– ผู้คนจำนวนไม่น้อยในโลกทุกวันนี้จึงเหมือนกำลังวิ่งอยู่บนลู่กรีฑาของการแข่งขันหาเงิน เพื่อไขว่คว้า ?มายาคติของตัวเลข? (เพราะได้ใช้เงินซื้อหาทุกสิ่งทุกอย่างโดยไม่รู้จะซื้ออะไรอีกแล้ว จนเงินกลายเป็นเพียงตัวเลขในบัญชีที่ไม่ได้ถูกนำมาใช้สร้างอรรถประโยชน์อะไรจริงๆให้กับชีวิตผู้นั้น) ทุกคนต่างวิ่งแข่งกันอย่างสุดความสามารถด้วยความกลัวว่าจะอยู่ล้าหลังคนอื่น ที่สุดของการเดินทาง ล้มลงนอนด้วยความเหนื่อยอ่อน พร้อมกับความฉงนต่อสิ่งตนแสวงหาและได้มาจากความพยายามอันยาวนาน เพียงผืนดินยาววากว้างศอกสำหรับฝังกาย ?เท่านี้หรือชีวิต?

ad

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *