ณ เวลาสี่ทุ่ม (หรือ 22.00 นาฬิกาของชีวิตวัยเจ็ดสิบเจ็ดปี)

– หลายคนคงนอนหลับสนิทไปแล้วก่อนถึงเวลาสี่ทุ่ม โดยอายุเจ็ดสิบเจ็ดปีที่เวลาสี่ทุ่มของนาฬิกาแห่งชีวิตเรือนนี้ก็เข้าใกล้อายุขัยเฉลี่ยของหญิงไทยเข้าไปทุกที คุณเตรียมตัวเข้านอนเพื่อที่จะได้หลับสนิทตลอดกาลและอำลาทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งอำนาจ เกียรติยศชื่อเสียง และทรัพย์สมบัติที่คุณเพียรสะสมมาชั่วชีวิต รวมถึงเตรียมคำพูดเพื่อกล่าวอำลาคนที่คุณรักหรือยัง10

– แต่อันที่จริงแล้วชีวิตของเราทุกคนกำลัง ?หลับลง? ในทุกขณะเวลา และเราก็กำลังอยู่ในโลกของความฝันด้วย เพราะหลักพุทธธรรมชี้ให้เห็นสัจจะความจริงประการหนึ่งว่า เอกภพหรือ ?โลก? อันเป็น ?สิ่งที่ถูกรู้? (รูป) นั้นไม่สามารถแยกเป็นอิสระจาก ?จิตที่เป็นผู้รู้? (นาม)ได้ ขณะที่ไม่ว่าจะเป็น ?รูป? (ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ) และ ?นาม? (อันคือจิตที่เป็นผู้รู้นั้น) ล้วนแล้วแต่ตกอยู่ภายใต้กฎไตรลักษณ์อันคือเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปๆในทุกขณะของเวลา (อนิจจัง) ทนตั้งอยู่ในสถานะเดิมเช่นนั้นๆไม่ได้แม้ชั่วขณะ (ทุกขัง) ตลอดจนปราศจากแก่นสารสาระแห่งการดำรงอยู่อย่างจริงแท้เป็นภววิสัยหรือวัตถุวิสัย (objective) ของสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวง (อนัตตา) ฉะนั้นสิ่งที่เราเข้าใจว่าเป็น ?ความจริง? (reality) แห่งสรรพสิ่ง โดยแก่นแท้แล้วจึงเป็นเพียง ?แบบจำลอง? ของความจริงใน ?โลกแห่งความคิด? ที่เป็นเสมือนความฝันอย่างหนึ่งซึ่งเราสร้างขึ้นมาเท่านั้น

– ดังเช่นที่เราไม่สามารถสัมผัสกับ ?ความจริง? ทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยอันกว้างใหญ่ได้ แต่เราเข้าใจผ่านแบบจำลองของ ?แผนที่? ซึ่งเราสร้างขึ้นในโลกของความคิด (โดยต้องใช้ความคิดในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัญลักษณ์ต่างๆในภาพแผนที่ดังกล่าว) แม้แต่ภาพถ่ายทางอากาศก็เป็นเพียงแบบจำลองอย่างหนึ่งซึ่งไม่ใช่ความจริงทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทย เพราะจุดเล็กๆที่เราเห็นในภาพถ่ายอาจเป็นเพียงแมลงซึ่งบังเอิญติดอยู่ที่เลนซ์กล้อง หรือภาพที่เห็นอาจไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงที่เปลี่ยนไป ณ เวลาขณะปัจจุบันนั้นก็ได้ เป็นต้น ยิ่งเป็น ?ความจริง? ที่ เกี่ยวกับสิ่งซึ่งมองไม่เห็น เช่น แรงโน้มถ่วง สนามแม่เหล็ก อนุภาคภายในอะตอม ฯลฯ ยิ่งต้องเข้าใจผ่าน ?แบบจำลอง? ที่เราสร้างขึ้นในโลกของความคิด อาทิ ต้องใช้ความคิดเพื่อทำความเข้าใจสัญลักษณ์ต่างๆในแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เกี่ยวกับปรากฏการณ์ดังกล่าว เป็นต้น

– ไอน์สไตน์ได้สร้างแบบจำลองของการทดลองในโลกแห่งความคิดขึ้น โดยสมมติให้เราติดอยู่ในลิฟท์ที่หลุดออกไปในอวกาศ ในกรณีเช่นนี้ไม่ว่าเราจะใช้เครื่องมืออะไรชั่งน้ำหนักตัวเอง เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าน้ำหนักดังกล่าวเกิดจาก ?แรงโน้มถ่วงของโลก? ที่ดึงให้ตัวเราติดกับพื้นลิฟท์ หรือเกิดจาก ?แรงของความเร่ง? ที่ลิฟท์เคลื่อนที่ไปในอวกาศและดันให้พื้นลิฟท์ติดกับตัวเรา ทำให้ไอน์สไตน์ได้ข้อสรุปว่าภายใต้กรอบอ้างอิงความจริงกรณีนี้ ?มวลโน้มถ่วง? (gravitational mass) หรือค่า m ในสมการของแรงโน้มถ่วง f = Gm1m2/r2 จะเท่ากับ ?มวลเฉื่อย? (inertial mass) หรือค่า m ในสมการของแรงเฉื่อย f = ma?? เพราะเป็นสิ่งที่ ?สมมูล? (equivalence) กัน กล่าวคือต่างมีความเหมือนกัน (identical) จนบอกความแตกต่างจากกันไม่ได้ (indistinguishable) โดย?หลักแห่งความสมมูล? (Principle of Equivalence) ก็คือหลักการพื้นฐานที่อยู่เบื้องหลังทฤษฎีสัมพัทธภาพอันโด่งดังของไอน์สไตน์ที่รู้จักกันภายใต้สมการ E = mc2 นั่นเอง

– ทฤษฎีสัมพัทธภาพที่ไอน์สไตน์ค้นพบนี้มีนัยสำคัญอันสอดคล้องกับสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นว่า ?โลกที่เรารับรู้? นั้น เป็นสัมพัทธภาพระหว่าง ?รูป? (อันคือสิ่งที่ถูกรู้) กับ ?นาม? (อันคือจิตที่เป็นผู้รู้) ตามนัยแห่งกฎปฏิจจสมุปบาทในพุทธปรัชญา โดยถ้าหากมียานอวกาศสองลำในอวกาศ (ภายใต้กรอบอ้างอิงความจริงที่ไม่นำเทหวัตถุอื่นๆมาพิจารณา) และเรานั่งอยู่ในยานอวกาศลำหนึ่ง ความเร็วของยานอวกาศลำที่เราเห็นข้างหน้าจะเป็นสัมพัทธภาพกับความเร็วของตัวเราที่เป็นผู้รับรู้เสมอ ในกรณีเช่นนี้เราจะมีวิธีควบคุมบังคับความเร็วของยานอวกาศลำข้างหน้าได้สองวิถีทางคือ ด้วยวิธีการส่งพลังงานรูปใดรูปหนึ่งออกไปควบคุมบังคับซึ่งทำได้ยากมากและมีข้อจำกัดมากมาย กับอีกวิถีทางหนึ่งที่กระทำได้ง่ายกว่าอย่างไม่มีขอบเขตข้อจำกัดก็คือ การหันมาควบคุมบังคับความเร็วในยานอวกาศลำของเราเอง โดยถ้าต้องการบังคับให้ยานอวกาศลำที่เห็นข้างหน้าแล่นเร็วขึ้น ก็แค่ปรับความเร็วในยานอวกาศของเราให้ช้าลง ถ้าต้องการบังคับให้ยานลำนั้นแล่นช้าลง ก็แค่ปรับความเร็วในยานอวกาศของเราให้แล่นเร็วขึ้น และถ้าต้องการควบคุมบังคับให้ยานอวกาศลำที่เห็นนั้นหยุดนิ่ง ก็เพียงแต่ปรับความเร่งในยานอวกาศของเราให้เท่ากับความเร็วของยานอวกาศลำนั้น เป็นต้น พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ในโรหิตัสสสูตร (ตามที่ยกมาอ้างอิงแล้ว) ว่า ทรงบัญญัติโลกทั้งหมดไว้ในตัวมนุษย์ที่มี ?สัญญา? (ความจำได้หมายรู้) และ ?ใจ? (จิตที่เป็นผู้รู้)

ad

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *